วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๓๑-๓๕)

๓๑. ข้อใดใช้ภาษาต่างระดับกับข้ออื่น
๑. เขาไปซื้อแสตมป์ที่ไปรษณีย์
๒. อาจารย์คะ โจทย์ข้อนี้แก้ยังไง
๓. มีปัญหาอะไรก็บอกเลยนะ ไม่ต้องเกรงใจ
๔. งานนิทรรศการสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นจัดแสดง ณ ที่ว่าการอำเภอ


๓๒. ข้อใดใช้ภาษาต่างระดับกับข้ออื่น
๑. การจัดอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้รับความรู้และทักษะเชิงปฏิบัติการ
๒. วันนี้ก็หวังว่าคุณผู้ฟังน่าจะได้ความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยและความสนุกสนานจากการแสดงของพวกเราค่ะ
๓. จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น คงพอเป็นแนวทางต่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ข้ามชาติ

๔. การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต้องอาศัยการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ


๓๓. ข้อใดไม่ใช้สำนวนภาษาต่างประเทศ
๑. เขาถูกคัดเลือกให้เป็นประธานอีกสมัยหนึ่ง
๒. มันเป็นอะไรที่ยากแก่การเข้าใจ
๓. เพื่อน ๆ นัดเจอกันที่สวนสาธารณะ

๔. ในความคิดของเธอใครเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้า


๓๔. ข้อความตอนใดใช้ราชาศัพท์ผิด
       (ก)พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จลงจากชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช (ข)ประทับรถยนต์พระที่นั่ง (ค)ทรงเสด็จพระราชดำเนินจากโรงพยาบาลศิริราช เพื่อไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ง)โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ส่งเสด็จ
๑. ข้อ(ก) 

๒. ข้อ(ข)
๓. ข้อ(ค) 

๔. ข้อ(ง)


๓๕. ข้อใดใช้คำว่า “ทรง” ไม่ถูกต้อง
๑. ทรงศีล ทรงเทนนิส
๒. ทรงพระกรุณา ทรงพระผนวช
๓. ทรงมีพระบรมราชโองการ ทรงเป็นพระราชโอรส

๔. ทรงมีทุกข์ ทรงมีเงิน


เฉลย แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๓๑-๓๕)

เฉลยแนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๓๑-๓๕)

๓๑. ตอบ ๔. งานนิทรรศการสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นจัดแสดง ณ ที่ว่าการอำเภอ เป็นภาษาทางการ
ระดับของภาษา แบ่งเป็น ๕ ระดับ ดังนี้
๑)พิธีการ สังเกตคำว่า “พิธี” ต้องนาน ๆ มีครั้ง แสดงถึงความสำคัญ จึงใช้กับบุคคลที่เคารพสูงสุด เช่น การกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ มีการใช้คำราชาศัพท์ และคำที่ใช้เรียกขานในศาล
๒)ทางการ เป็นภาษาเขียน ใช้ในงานราชการ งานวิชาการ ใช้กล่าวสุนทรพจน์ ใช้ในการประชุมอย่างเป็นทางการ ใช้บันทึกรายงานการประชุม มักใช้คำบัญญัติศัพท์ เป็นภาษาสุภาพเท่ากันทั้งประโยค
๓)กึ่งทางการ จะมีภาษาปากตั้งแต่ ๑ คำเป็นต้นไป ปนรวมกับภาษาทางการ ใช้คำย่อที่ราชการยอมรับ ใช้เครื่องหมายคำซ้ำ(ๆ) มักลงท้ายว่า นะ คะ ค่ะ ด้วย จัง เลย หน่อย เถอะ จ๊ะ เทอญ
๔)สนทนา ใช้พูดกับคนคุ้นเคยแต่ไม่สนิท เป็นภาษาง่าย ๆ มักออกเสียงไม่ชัดเจน มีการรวบคำหรือกร่อนคำ มีการละประธานและซ้ำคำ มีการใช้คำสแลงและคำลงท้าย
๕)ปาก ใช้พูดกับคนที่สนิทสนมเป็นกันเอง มีการละคำมากกว่า มีการกร่อนคำ ใช้คำสแลง ภาษาถิ่น คำตลาด คำหยาบ ใช้คำย่อที่เข้าใจกันภายในกลุ่ม ใช้คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ ใช้คำหรือสำนวนที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง
ข้อสังเกต ความแตกต่างระหว่างภาษาสนทนาและภาษาปาก คือ
ภาษาสนทนาใช้กับคนที่ไม่สนิท ส่วนภาษาปากใช้กับคนที่สนิท
จากโจทย์ ตัวเลือกข้อ ๔ เป็นภาษาทางการ ส่วนตัวเลือกอื่น เป็นภาษาปาก



๓๒. ตอบ ๒. วันนี้ก็หวังว่าคุณผู้ฟังน่าจะได้ความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยและความสนุกสนานจากการแสดงของพวกเราค่ะ
เป็นภาษากึ่งทางการ สังเกต มีคำลงท้ายว่า “ค่ะ” ส่วนตัวเลือกอื่น เป็นภาษาทางการ 



๓๓. ตอบ ๓. เพื่อน ๆ นัดเจอกันที่สวนสาธารณะ
สำนวนภาษาต่างประเทศ จะยาวเยิ่นเย่อ ใช้คำฟุ่มเฟือย มักแปลจากภาษาต่างประเทศโดยตรง
จากโจทย์ ข้อ ๑. เป็นการเลียนแบบโครงสร้างประโยคภาษาอังกฤษ Passive voice หรือประโยค “ถูกกระทำ”
ควรแก้เป็น เขาได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานอีกสมัยหนึ่ง
ข้อ ๒. ควรแก้เป็น เรื่องนี้เข้าใจยาก
ข้อ ๔. ควรแก้เป็น เธอคิดว่าใครเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้า



๓๔. ตอบ ๓. ข้อ(ค)
ตัด “ทรง” ออก ใช้แค่ “เสด็จพระราชดำเนิน”
เทคนิค คำกริยาที่เป็นคำราชาศัพท์อยู่แล้ว ไม่ต้องใช้ “ทรง” นำหน้า เช่น เสด็จ ทอดพระเนตร
ส่วน คำกริยาธรรมดาใช้ “ทรง” นำหน้าได้ เช่น ทรงรับ ทรงฟัง



๓๕. ตอบ ๓. ทรงมีพระบรมราชโองการ ทรงเป็นพระราชโอรส
คำว่า “ทรง” มีหลักการใช้ ดังนี้
๑)ถ้าคำว่า “มี” หรือ “เป็น” อยู่หน้า “พระ” ที่แสดงความเป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว ให้ตัด “ทรง” ออก
จากตัวเลือกข้อ ๓. แก้เป็น มีพระบรมราชโองการ เป็นพระราชโอรส
๒)ถ้าคำว่า “มี” หรือ “เป็น” นำหน้าคำธรรมดา ใช้ “ทรง” นำหน้าได้ เช่น
ตัวเลือกข้อ ๔. ทรงมีทุกข์ ทรงมีเงิน √
๓)“ทรง”นำหน้านามธรรมดาได้ เช่น ตัวเลือกข้อ ๑. ทรงศีล ทรงเทนนิส
๔)“ทรง” นำหน้านามราชาศัพท์ได้ เช่น ตัวเลือกข้อ ๒. ทรงพระกรุณา ทรงพระผนวช
๕)“ทรง” นำหน้ากริยาธรรมดาได้ เช่น ทรงรับ ทรงฟัง
๖)คำกริยาที่เป็นคำราชาศัพท์อยู่แล้ว ไม่ต้องใช้ “ทรง” นำหน้า เช่น เสด็จ ทอดพระเนตร


กลับไปดู แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๓๑-๓๕)

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๖-๓๐)

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๖-๓๐)

๒๖. ข้อใดต่อไปนี้ใช้คำถูกต้อง 

๑. ผู้ปกครองทุกท่านโปรดนำสูจิบัตรไปแสดงด้วยในวันมอบตัวนักเรียน
๒. เธอนำเรื่องทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาเผยแผ่ให้เพื่อนนักศึกษาได้เรียนรู้
๓. ทางโรงเรียนควรหามาตรฐานลงโทษนักเรียนที่มาเรียนสาย
๔. ประธานนักเรียนพูดเสียยืดยาวจนคนฟังง่วง


๒๗. ข้อใดต่อไปนี้ใช้คำฟุ่มเฟือย
๑. แม่บ้านกำลังทำความสะอาดห้องน้ำ
๒. คนดีควรจะต้องมีความกตัญญูรู้คุณเพราะความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี
๓. เขาเป็นคนเดียวที่รอดมาได้ในอุบัติเหตุครั้งนั้น
๔. เธอเสียใจอย่างมากกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา


๒๘. ข้อใดต่อไปนี้ใช้ภาษากำกวม
๑. ช่วงนี้ใกล้สอบเขาจึงมุมานะอ่านหนังสือ
๒. อ้นเป็นคนใช้อั้นไปซื้อของที่ตลาด 

๓. เขาป่วยไม่มาเรียนหนังสือหลายวันแล้ว 
๔. เธอดื่มนมเป็นประจำทุกเช้า


๒๙. ข้อความต่อไปนี้เหมาะสมที่จะเติมสำนวนใดลงในช่องว่าง
บ้านของสามีภรรยาคู่หนึ่ง เดิมเป็นทุ่งนามาก่อน สภาพบ้านค่อนข้างเก่า โดยเฉพาะห้องน้ำ ฝากั้นด้วยสังกะสีเป็นสนิมทั้งแผ่น ช่วงล่างติดกับดินแตกเป็นรู เพราะห้องน้ำมีรูนี้เอง ทำให้สามีภรรยาซึ่งอาศัยอยู่มีปากเสียงกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน เนื่องจากสามีผัดวันประกันพรุ่งในการซ่อมห้องน้ำ จนเกือบจะหย่าขาดจากกัน กลายเป็น_ _ _ _ _ _ ที่เกิดขึ้นได้เสมอกับสามีภรรยาแทบทุกคู่ 

๑. ผ่อนสั้นผ่อนยาว 
๒. น้ำผึ้งหยดเดียว
๓. ตีตนก่อนไข้ 

๔. ลางเนื้อชอบลางยา


๓๐. สำนวนในข้อใดไม่เกี่ยวกับการฟัง 

๑. เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา
๒. ตักน้ำรดหัวตอ 

๓. พกหินดีกว่าพกนุ่น 
๔. น้ำลดตอผุด


เฉลย แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๖-๓๐)

เฉลยแนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๖-๓๐)

๒๖. ตอบ ๔. ประธานนักเรียนพูดเสียยืดยาวจนคนฟังง่วง
ข้อสังเกต โจทย์เรื่อง การใช้คำถูกต้อง พึงระวังคำบางคำที่เหมือนกันหรือคล้ายกัน ซึ่งคำคล้ายกันแทนกันไม่ได้
ตัวเลือกข้อ ๑.ใช้ สูติบัตร หมายถึง เอกสารสำคัญแสดงการเกิด
ส่วน สูจิบัตร หมายถึง ใบหรือจุลสารหรือเอกสารแจ้งรายการ
ตัวเลือกข้อ ๒ ใช้ เผยแพร่ หมายถึง โฆษณาให้แพร่หลาย
ส่วน เผยแผ่ หมายถึง ทำให้ขยายออกไป มักใช้กับเรื่องศาสนา เช่น เผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
ตัวเลือกข้อ ๓. ใช้ มาตรการ หมายถึง วิธีการตัดสิน
ส่วน มาตรฐาน หมายถึง สิ่งที่ถือเป็นหลักสำหรับเทียบกำหนด


๒๗. ตอบ ๒. คนดีควรจะต้องมีความกตัญญูรู้คุณเพราะความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี
ฟุ่มเฟือยตรงคำว่า ความกตัญญู ควรแก้ไขเป็น ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี


๒๘. ตอบ ๒. อ้นเป็นคนใช้อั้นไปซื้อของที่ตลาด
ประโยคนี้กำกวม ตีความได้ ๒ ความหมายว่า อ้นเป็นคนใช้ของอั้น หรือ อ้นเป็นคนใช้อั้นให้ไปซื้อของที่ตลาด 




๒๙. ตอบ ๒. น้ำผึ้งหยดเดียว
น้ำผึ้งหยดเดียว หมายถึง การทำเรื่องเล็กน้อยให้กลายเป็นเรื่องใหญ่
เพราะจากโจทย์ แค่ห้องน้ำมีรู จนทะเลาะมีปากเสียงกันจนเกือบหย่าขาดกันนั่นเอง จึงใช้สำนวนนี้
ส่วนข้อ ๑. ผ่อนสั้นผ่อนยาว หมายถึง การประนีประนอมหรือเห็นอกเห็นใจกัน
ข้อ ๓. ตีตนก่อนไข้ หมายถึง กังวลหรือหวาดกลัวในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น
ข้อ ๔. ลางเนื้อชอบลางยา หมายถึง ของสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งชอบแต่อีกคนหนึ่งไม่ชอบ 




๓๐. ตอบ ๔. น้ำลดตอผุด หมายถึง คนที่ทำชั่วแล้วปกปิดความชั่วนั้นไว้ ต่อมาคนนั้นเกิดตกต่ำทำให้ความชั่วที่ปกปิดไว้ ถูกเปิดเผยออกมา ซึ่งเป็นสำนวนที่ไม่เกี่ยวกับการฟัง
ข้อ ๑. เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา หมายถึง บอกหรือสอนไม่ได้ผล ใช้เปรียบเทียบคนที่ไม่รู้จักฟัง
ข้อ ๒. ตักน้ำรดหัวตอ หมายถึง แนะนำพร่ำสอนเท่าไรก็ไม่ได้ผล ไม่ยอมรับหรือไม่เชื่อฟัง ใช้เปรียบเทียบคนที่ไม่รู้จักฟัง หรือฟังอะไรเข้าใจยาก
ข้อ ๓. พกหินดีกว่าพกนุ่น หมายถึง ทำใจให้หนักแน่น ไม่หูเบาเชื่อสิ่งที่ได้ยินได้ฟังโดยไม่ไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน



กลับไปดู แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๖-๓๐)

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๑-๒๕)

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๑-๒๕)

๒๑.ข้อใดเป็นประโยคความเดียว

๑. การนอนกลางวันมีประโยชน์ต่อร่างกาย
๒. การนอนกลางวันที่มีประสิทธิภาพควรใช้เวลา ๑๕-๓๐ นาที
๓. ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ถ้านอนกลางวันน้อยเกินไป ร่างกายจะไม่ได้พักผ่อนเท่าที่ควร
๔. นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำให้ออกกำลังกายสัก ๑๐ นาที ก่อนนอนกลางวัน


๒๒.ข้อใดไม่ใช่ประโยคความซ้อน

๑. บ้านซึ่งอยู่ตรงเชิงเขาเป็นของยายฉันเอง
๒. ยายเลี้ยงไก่และปลูกผักสวนครัว
๓. ผักสวนครัวที่ปลูกในบ้านยายมีหลายอย่าง เช่น มะเขือ พริก แตงกวา
๔. ยายบอกว่าบ้านเชิงเขาอากาศสดชื่น เหมาะกับการผักผ่อน


๒๓. ข้อใดไม่ใช่ประโยค

๑. นักเรียนนักศึกษาควรหมั่นอ่านหนังสือ
๒. การอ่านหนังสือไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่นักเรียนนักศึกษาเท่านั้น
๓. การอ่านหนังสือที่ช่วยให้คนฉลาดสามารถเอาตัวรอดได้
๔. การอ่านหนังสือจึงเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย


๒๔. ข้อใดมีน้ำเสียงแตกต่างจากข้ออื่น

๑. สุชาติกับสมชายคุยกันถูกคอดี
๒. อาหารมื้อนี้อร่อยถูกปากทุกคน
๓. ช่วงนี้เขาดูเครียดมากพูดจาไม่เข้าหูคนเลย
๔.โครงงานวิทยาศาสตร์ของสุมาลีเข้าตากรรมการ


๒๕. คำในข้อใดใช้ได้ทั้งความหมายตามตัวและความหมายเชิงอุปมาทุกคำ
๑. ดอกไม้ กินข้าว 

๒. แก้วน้ำ ตีปลา
๓. ขวดแก้ว วางหมาก

๔. ผ้าขาว ขาใหญ่


เฉลย แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๑-๒๕)

เฉลยแนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๑-๒๕)

๒๑. ตอบ ๑. การนอนกลางวันมีประโยชน์ต่อร่างกาย
ประโยคความเดียว คือ ประโยคที่มีเนื้อความหรือใจความเดียว สามารถยาวได้ แต่มีส่วนขยายเป็นแค่วลี
มักอยู่ในโครงสร้าง S1V1 โดยที่ S1 ย่อมาจาก Subject ประธาน ๑ ตัว ส่วน V1ย่อมาจาก Verb กริยา ๑ ตัว
เทคนิค ประโยคความเดียว หากริยาตัวเดียว จบ
จากข้อ ๑. ประธาน คือ การนอนกลางวัน กริยา คือ มี
ส่วนข้อ ๒. การนอนกลางวันที่มีประสิทธิภาพควรใช้เวลา ๑๕-๓๐ นาที
เป็นประโยคความซ้อน ชนิดคุณานุประโยค มักอยู่ในโครงสร้าง ป.ย.หลัก+ผู้ ที่ ซึ่ง อัน+กริยา
จะเห็นว่าตัวเลือกข้อ ๒. ที่+กริยา “มี” (ส่วนกริยาหลักคือ “ใช้”) 

ข้อ ๓. และข้อ ๔. เป็นประโยคความซ้อน ชนิดนามานุประโยค มักอยู่ในโครงสร้าง ป.ย.หลัก+ว่า/ให้+ป.ย.ย่อย เทคนิค ประโยคความซ้อน ๑.หากริยา ๒.หาคำเชื่อม ๘ ตัวหลักคือ ว่า ให้ ผู้ ที่ ซึ่ง อัน จน เพื่อ


๒๒. ตอบ ๒. ยายเลี้ยงไก่และปลูกผักสวนครัว
เป็นประโยคความรวม ที่เนื้อความคล้อยตามกัน ใช้คำเชื่อม ได้แก่ และ, กับ, พอ_ _ _ก็
ส่วนข้อ ๑. บ้านซึ่งอยู่ตรงเชิงเขาเป็นของยายฉันเอง
เป็นประโยคความซ้อน ชนิดคุณานุประโยค มักอยู่ในโครงสร้าง ป.ย.หลัก+ผู้ ที่ ซึ่ง อัน+กริยา
จะเห็นว่าตัวเลือกข้อ ๑. ซึ่ง+กริยา “อยู่” (ส่วนกริยาหลักคือ “เป็น”)
ข้อ ๓. ผักสวนครัวที่ปลูกในบ้านยายมีหลายอย่าง เช่น มะเขือ พริก แตงกวา
ก็เป็นประโยคความซ้อน ชนิดคุณานุประโยค เช่นกัน เพราะ ที่+กริยา “ปลูก” (ส่วนกริยาหลักคือ “มี”)

ข้อ ๔. ยายบอกว่าบ้านเชิงเขาอากาศสดชื่น เหมาะกับการผักผ่อน
เป็นประโยคความซ้อน ชนิดนามานุประโยค มักอยู่ในโครงสร้าง ป.ย.หลัก+ว่า/ให้+ป.ย.ย่อย

เทคนิค ประโยคความซ้อน ๑.หากริยา ๒.หาคำเชื่อม ๘ ตัวหลักคือ ว่า ให้ ผู้ ที่ ซึ่ง อัน จน เพื่อ


๒๓. ตอบ ๓. การอ่านหนังสือที่ช่วยให้คนฉลาดสามารถเอาตัวรอดได้
เพราะประโยค ประกอบด้วย ภาคประธาน+ภาคแสดง(คำกริยา/คำคุณศัพท์)
ตัวเลือกข้อ ๓. ขาดกริยาแท้ เป็นแค่กลุ่มคำ เป็นประโยชน์ที่ไม่สมบูรณ์ 

เห็นได้จากวลี “ที่ช่วยให้คนฉลาดสามารถเอาตัวรอดได้” ขยายคำว่า การอ่านหนังสือ


๒๔. ตอบ ๓. ช่วงนี้เขาดูเครียดมากพูดจาไม่เข้าหูคนเลย
ตัวเลือกข้อ ๓. มีน้ำเสียงแตกต่างจากข้ออื่น คือ มีน้ำเสียงเชิงตำหนิ ตรงคำว่า “ไม่เข้าหู” แปลว่า ไม่น่าฟัง ไม่ไพเราะ


๒๕. ตอบ ๔. ผ้าขาว ขาใหญ่
ความหมายตามตัว คือ แปลความหมายตรงตัวตามอักขระ
ความหมายเชิงอุปมา คือ ความหมายแฝง เป็นการแปลเปรียบเทียบ โดยเปรียบความหมายหนึ่งกับพฤติกรรมหรือลักษณะที่มีการเทียบเคียงกัน เกี่ยวข้องกัน
ผ้าขาว ความหมายตามตัว คือ ผ้าที่มีสีขาว
            ความหมายเชิงอุปมา คือ สะอาด บริสุทธิ์ ผู้หญิงหรือเด็กที่ไร้เดียงสา
ขาใหญ่ ความหมายตามตัว คือ ขาที่มีขนาดใหญ่
             ความหมายเชิงอุปมา คือ ผู้มีอิทธิพล


กลับไปดู แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๑-๒๕)

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๖-๒๐)

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๖-๒๐)

๑๖. คำในข้อใดต่อไปนี้เป็นศัพท์บัญญัติจากคำภาษาอังกฤษทุกคำ
๑. สุนทร สุนทรี สุนทรียภาพ
๒. ไม้ใกล้ฝั่ง ไม้คมแฝก ไม้ขีดไฟ
๓. กองข้าว กองฟาง กองทุน
๔. แผนที่ แผนผัง แผ่นปลิว

๑๗. สำนวนไทยในข้อใดไม่มีคำยืมภาษาบาลีสันสกฤต
๑. รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
๒. ยกเมฆ
๓. ปากกัดตีนถีบ
๔. พูดดีเป็นศรีแก่ตัว

๑๘. ข้อใดต่อไปนี้ใช้คำลักษณนามไม่ถูกต้อง
๑. ประเทศไทยมีสโมสรฟุตบอลอยู่หลายสโมสร
๒. วัดนี้มีพระพุทธรูปเก่าโบราณสมัยทวารวดีอยู่ ๒ รูป
๓. ห้างสรรพสินค้านี้มีบันไดเลื่อน ๑๐ ตัว
๔. บริษัทนี้มีลิฟต์ขนถ่ายสินค้า ๕ ตัว

๑๙.จากข้อความต่อไปนี้มีสันธานและบุพบทกี่คำ
      ในกาแฟมีสารคาเฟอีนที่ช่วยขจัดความเหนื่อยล้า เพิ่มความกระปรี้กระเปร่าให้กับร่างกาย แต่ละวันเราควรได้รับสารคาเฟอีนไม่เกิน ๒๕๐ มิลลิกรัม หรือกาแฟ ๒ – ๓ ถ้วย การดื่มกาแฟปริมาณมากเกินไป ทั้งทำลายการนอนหลับ และยังก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ

๑. สันธาน ๓ คำ บุพบท ๒ คำ
๒. สันธาน ๓ คำ บุพบท ๓ คำ
๓. สันธาน ๒ คำ บุพบท ๓ คำ
๔. สันธาน ๒ คำ บุพบท ๒ คำ

๒๐.จากข้อความต่อไปนี้มีคำนามและคำกริยาหลักอย่างละกี่คำ(ไม่นับคำซ้ำ)
      เมืองที่ใหญ่เกินไป ถ้าบริหารไม่ดี จะเกิดปัญหามากมาย ทั้งการจราจรติดขัด จำนวนประชากรหนาแน่นมากเกินไป ก็จะเกิดปัญหาอาชญากรรมได้ง่าย และหน่วยงานภาครัฐก็บริการแก่ประชาชนได้ไม่เต็มที่
๑. นาม ๔ คำ กริยา ๑ คำ
๒. นาม ๕ คำ กริยา ๒ คำ
๓. นาม ๖ คำ กริยา ๓ คำ
๔. นาม ๗ คำ กริยา ๔ คำ

เฉลย แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๖-๒๐)

เฉลยแนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๖-๒๐)

๑๖. ตอบ ๔. แผนที่ แผนผัง แผ่นปลิว
ศัพท์บัญญัติ หมายถึง การสร้างคำขึ้นใหม่ โดยใช้คำไทยแปลคำภาษาอังกฤษ บางทีมิใช่การแปลโดยตรง แต่เป็นการใช้คำไทยแทนที่คำภาษาอังกฤษ บางคำต้องใช้คำบาลีสันสกฤตแปลคำภาษาอังกฤษ ซึ่งส่วนมากเป็นคำสมาสที่สร้างใหม่ในภาษาไทย

จะเห็นว่าตัวเลือกข้อ ๔. เป็นศัพท์บัญญัติจากภาษาอังกฤษทุกคำ
แผนที่ – map แผนผัง – plan แผ่นปลิว – sheet
ส่วนข้อ ๑. สุนทรียภาพ – aesthetics
ข้อ ๒. ไม้ขีดไฟ – match   ข้อ ๓. กองทุน – fund

๑๗. ตอบ ๓. ปากกัดตีนถีบ
เทคนิคการทำ ถ้าเจอโจทย์ลักษณะนี้ ให้หาคำไทยแท้ก่อนเป็นอันดับแรก
ลักษณะของคำไทยแท้ มี ๕ ข้อสำคัญคือ
๑)ส่วนใหญ่เป็นคำโดดพยางค์เดียว ไม่ควบกล้ำ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย
๒)ไม่มีตัวการันต์ เช่น กัน นาง
๓)สะกดตรงตามมาตรา เช่น กับ(แม่กบ) สาว(แม่เกอว)
๔)จะใช้รูป “ไอ” กับ “ใอ” เท่านั้น ไม่ใช่รูป“อัย” เช่น ใน ใจ
๕)วรรณยุกต์มีทั้งมีรูปและไม่มีรูป เพื่อแสดงความหมาย เช่น ปา ป่า ป้า
จากโจทย์ จะเห็นว่าข้อ ๓. เป็นคำโดดพยางค์เดียว และสะกดตรงตามมาตรา
ส่วนข้อ ๑. โทษ เป็นคำยืมภาษาสันสกฤต เพราะมี ษ
ข้อ ๒. เมฆ เป็นคำยืมภาษาบาลี
ข้อ ๔. ศรี เป็นคำยืมภาษาสันสกฤต เพราะมี ศ

๑๘. ตอบ ๒. วัดนี้มีพระพุทธรูปเก่าโบราณสมัยทวารวดีอยู่ ๒ รูป
พระพุทธรูป ใช้ลักษณนามว่า องค์ รวมทั้ง พระพิมพ์ ก็ใช้ลักษณนามว่า องค์ ด้วย
ส่วนข้อ ๑. สโมสร ใช้ลักษณนามว่า สโมสร
ข้อ ๓. บันไดเลื่อน ใช้ลักษณนามว่า ตัว; แห่ง
ข้อ ๔. ลิฟต์ ใช้ลักษณนามว่า ตัว
freethaitestsbyP'Ray

๑๙. ตอบ ๑. สันธาน ๓ คำ บุพบท ๒ คำ
สันธาน คือ คำเชื่อมประโยคให้เป็นเรื่องเดียวกัน สันธานอยู่ระหว่าง ๒ ประโยค
เทคนิคจำ ป.ย.+สันธาน+ป.ย.(ประโยคหากริยาแท้ให้เจอจบ) (ป.ย.คือตัวย่อของประโยค)

สันธานที่สำคัญมี ๕ กลุ่มหลัก คือ
๑.เชื่อมเนื้อความคล้อยตามกัน ได้แก่ และ, กับ, ก็_ _ _จึง, ครั้น_ _ _ก็, ครั้น_ _ _จึง, ทั้ง_ _ _ก็, ทั้ง_ _ _และ, พอ_ _ _ก็, แล้วก็, แล้ว_ _ _ก็, แล้วจึง, แล้ว_ _ _จึง
๒.เชื่อมเนื้อความขัดแย้งกัน ได้แก่ แต่, แต่ทว่า, แต่ว่า, แต่_ _ _ก็, กว่า_ _ _ก็, ถึง_ _ _ก็, ทว่า, ทว่า_ _ _ก็, แม้_ _ _ก็, ส่วน
๓.เชื่อมเนื้อความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ หรือ, หรือไม่ก็, มิฉะนั้นก็, ไม่เช่นนั้น
๔.เชื่อมเนื้อความให้เป็นเหตุเป็นผล ได้แก่ เพราะ, เพราะฉะนั้น, จึง, ฉะนั้น_ _ _จึง, ดังนั้น, เนื่องจาก
๕.เชื่อมเนื้อความเงื่อนไข ได้แก่ ถ้า, ถ้าหาก, ถ้า_ _ _ก็, หาก
เทคนิคจำตัวหลัก และ-คล้อยตาม แต่-ขัดแย้ง หรือ-เลือก เพราะ-เหตุผล ถ้า-เงื่อนไข
บุพบท คือ คำเชื่อมคำนามหรือสรรพนามให้ต่อเนื่องกัน บุพบทอยู่ระหว่างคำในประโยค
เทคนิคจำ ป.ย.+บุพบท+คำนาม/สรรพนาม
บุพบทที่สำคัญมีดังนี้
๑.กับ ด้วย ใช้หน้าคำนามที่อาศัยกริยาทำ มักอยู่ในโครงสร้าง กริยา+กับ/ด้วย+คำนาม เช่น เจอกับตัว ขัดด้วยแปรง
๒.แก่ ใช้หน้าคำนามผู้รับ เช่น เธอให้ขนมแก่เด็ก (เทคนิคจำ ผู้ใหญ่ให้ผู้น้อยใช้ “แก่”)

๓.แด่ ใช้หน้าคำนามผู้รับ ในเชิงเคารพ เช่น เขาถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ (เทคนิคจำ ผู้น้อยให้ผู้ใหญ่ใช้ “แด่”)
๔.ต่อ ใช้หน้าคำนาม มีความหมายว่าเฉพาะหรือประจันหน้า เช่น เขายื่นคำร้องต่อศาล
๕.ที่ ใช้หน้าคำนามที่เป็นสถานที่ เช่น ฉันกินข้าวที่บ้าน
๖.ใน ใช้หน้าคำนามแสดงสถานที่ เช่น จดหมายอยู่ในลิ้นชัก
ใช้หน้าคำนามบุคคลเพื่อแสดงความเคารพนับถือ เช่น มัทนะพาธาเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
๗.เพื่อ ใช้หน้าคำนามบอกสาเหตุ เช่น สู้เพื่อแม่
๘.ของ แห่ง ใช้หน้าคำนามแสดงความครอบครองหรือเป็นเจ้าของ เช่น บ้านของเรา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
๙.จาก ใช้หน้าคำนาม มีความหมายว่าพรากไป พ้นไป หรือแยกไป เช่น เขาดื่มนมจากขวด
จากโจทย์ สันธาน+ป.ย.(ประโยคหากริยาแท้ให้เจอจบ)
สันธานตัวแรก คือ หรือ เป็นการเชื่อมเนื้อความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
สันธานตัวที่๒และ๓ คือ ทั้ง_ _ _และ สันธานคู่นี้จะไปด้วยกันเสมอ
บุพบท+คำนาม/สรรพนาม
บุพบทตัวแรก คือ ใน (+คำนาม ในที่นี้คือ กาแฟ)
บุพบทตัวที่๒ คือ กับ (จากโจทย์คือ ให้กับร่างกาย)
ข้อสังเกต เราสามารถแยกความแตกต่างได้ว่า เมื่อใด “กับ” เป็นบุพบทหรือสันธาน ได้ดังนี้
๑.ถ้า “กับ” เป็นบุพบท จะอยู่ในโครงสร้าง กริยา+กับ+คำนาม เช่น เจอกับตัว สังเกต กริยาจะอยู่หน้า “กับ” เสมอ
๒.ถ้า “กับ” เป็นสันธาน กริยาจะอยู่หน้าหรือหลัง “กับ” ก็ได้ เช่น  แก้วกับก้อยไปกินข้าว หรือ แก้วไปกินข้าวกับก้อย
ข้อสังเกต “ที่” (จากโจทย์คือ ที่ช่วยขจัดความเหนื่อยล้า) “ที่” ในโจทย์นี้เป็นประพันธสรรพนาม ไม่ใช่บุพบท สังเกตง่าย ๆ ดังนี้
๑.ถ้า “ที่” เป็นประพันธสรรพนาม จะอยู่ในโครงสร้าง ที่+กริยา เช่นจากโจทย์ ที่ช่วยขจัด (ช่วยขจัดเป็นกริยา)
(ตัวอย่างประพันธสรรพนาม เช่น ผู้ ที่ ซึ่ง อัน)
๒.ถ้า “ที่” เป็นบุพบท จะอยู่ในโครงสร้าง ที่+คำนาม เช่น ที่บ้าน

๒๐. ตอบ ๔. นาม ๗ คำ กริยา ๔ คำ
เทคนิค ถ้าเจอโจทย์แบบนี้ให้วงกลมและใส่หมายเลขที่คำในโจทย์ไปเลย
เมืองที่ใหญ่เกินไป ถ้าบริหารไม่ดี จะเกิดปัญหามากมาย ทั้งการจราจรติดขัด จำนวนประชากรหนาแน่นมากเกินไป ก็จะเกิดปัญหาอาชญากรรมได้ง่าย และหน่วยงานภาครัฐก็บริการแก่ประชาชนได้ไม่เต็มที่
นามตัวแรก คือ เมือง นามตัวที่๒ คือ ปัญหา
นามตัวที่๓ คือ การจราจร นามตัวที่๔ คือ จำนวนประชากร นามตัวที่๕ คืออาชญากรรม นามตัวที่๖ คือ หน่วยงานภาครัฐ นามตัวที่๗ คือ ประชาชน
กริยาตัวแรก คือ บริหาร กริยาตัวที่๒ คือ เกิด
กริยาตัวที่๓ คือ ตัดขัด กริยาตัวที่๔ คือ บริการ
ข้อสังเกต “จะ” เป็นกริยาช่วย “ก็” เป็นสันธาน

กลับไปดู แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๖-๒๐)

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๑-๑๕)

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๑-๑๕)

๑๑. ข้อใดสะกดถูกทุกคำ

๑. เขาชอบกินผัดกระเพราไข่ดาวมากที่สุด
๒. สุชาติถูกต่อยจนเลือดกลบปาก
๓. ประธานชมรมกำลังซาวเสียงสมาชิกว่าจะไปออกค่ายที่ไหนกันดี
๔. หลายคนอาจสงสัยว่าเงินสดย่อยกับเงินทดลองจ่ายแตกต่างกันอย่างไร

๑๒. ข้อใดมีคำสะกดผิด

๑. การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์เป็นการแสดงตำนานตอนที่พระนารายณ์กวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต
๒. การวิเคราะห์และเกษียนหนังสือราชการ เป็นขั้นตอนก่อนที่จะนำเสนอผู้บังคับบัญชา
๓. แก้เคล็ดวัยเบญจเพศควรทำอย่างไร
๔. กรุณากรอกข้อมูลและประมาณการค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ
freethaitestsbyP'Ray 

ตอบคำถามข้อ๑๓-๑๔ โดยใช้ข้อมูลจากพจนานุกรมดังต่อไปนี้
เมีย         น. ภรรยา, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับผัว
เมียหลวง น. เมียที่ยกย่องว่าเป็นใหญ่
เมียง       ก. เข้าไปเลี่ยง ๆ, มองดูเลี่ยง ๆ, เดินเลียบเคียงเข้าไปมองดู

เมี่ยง      (ถิ่น-พายัพ) น. ต้นชา; ของกินที่ใช้ใบไม้ห่อกิน มีหลายชนิด เรียกชื่อต่าง ๆ กัน เช่น เมี่ยงคำ เมี่ยงลาว
เมี้ยน      ว. มิด, ลับลี้, ซ่อน

๑๓. จากโจทย์มีคำตั้งหรือแม่คำกี่คำ
๑. ๒ คำ     ๒. ๓ คำ     ๓. ๔ คำ     ๔. ๕ คำ

๑๔. จากโจทย์มีคำที่ระบุการใช้เฉพาะแห่งกี่คำ
๑. ๑ คำ     ๒. ๒ คำ     ๓. ๓ คำ     ๔. ๔ คำ

๑๕. คำในข้อใดต่อไปนี้ใช้คำไทยแทนคำภาษาอังกฤษไม่ได้
๑. เครื่องคิดเลขนี้ประมวลผลมีเออเรอบ่อยมาก

๒. นักเรียนห้องนี้ขยันจดเลกเชอร์กันทุกคนเลย
๓. กับข้าวมื้อนี้มีผัดบรอกโคลีด้วย
๔. การสอบครั้งนี้เขาชัวร์มากว่าสอบผ่านแน่นอน

เฉลย แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๑-๑๕)

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เฉลยแนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๑-๑๕)


๑๑. ตอบ ๓. ประธานชมรมกำลังซาวเสียงสมาชิกว่าจะไปออกค่ายที่ไหนกันดี
ซาวเสียง แปลว่า หยั่งเสียงเพื่อฟังความคิดเห็น  คำว่า ซาวคำนี้ ไม่ได้มาจากภาษาอังกฤษว่า Sound
เทคนิคการจำ ซาวข้าว ซาวน้ำ ซาวเสียง  สามซาวเรียงเขียนแบบนี้ จำไว้ให้ดี
ส่วนข้อ ๑. เขียนให้ถูกต้องว่า กะเพรา
เทคนิคการจำ กะเพรา เป็นผักไทย เป็นคำไทย ซึ่งคำไทยจะเขียนง่าย สะกดตามรูป
เทคนิคการจำ กะ คำไทย ส่วน กระ คำเขมร
ข้อ ๒. เขียนให้ถูกต้องว่า เลือดกบปาก  กบ ในที่นี่เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า เต็มมาก
ดังนั้น เลือดกบปาก จึงหมายถึง เลือดเต็มปาก ส่วน กลบ เป็นคำกริยา แปลว่า ปิดบังหรือฝัง
เทคนิคการจำ เลือดกบปาก  ให้นึกว่า มีเลือดกบมาอยู่ที่ปาก
ข้อ ๔. เขียนให้ถูกต้องว่า เงินทดรองจ่าย (ทดรอง แปลว่า ออกทรัพย์แทนไปก่อน)
เทคนิคการจำ ทดรองจ่าย คือ สำรองจ่ายไปก่อน (เขียน รองเหมือนกัน)

๑๒. ตอบ ๓. แก้เคล็ดวัยเบญจเพศควรทำอย่างไร
คำที่ถูกต้องควรเขียนว่า เบญจเพส สาเหตุที่เขียนผิดเพราะอาศัยแนวเทียบเคียงจากรูปของคำว่า เพศ
เทคนิคการจำ เบญจเพส  เบญจ = ห้า  เพส = ยี่สิบ (สังเกต เพส มี ส เสือ และยี่สิบ ก็มี ส เสือ)
ส่วนข้อ ๑. เกษียรสมุทร เขียนถูกต้องแล้ว อ่านว่า กะ-เสียน-สะ-หมุด
เกษียร   น. น้ำนม
เกษียรสมุทร   น. ทะเลน้ำนม
เทคนิคการจำ เกษียรสมุทร  สมุทร ใช้ ร เรือ  เกษียร ก็ใช้ ร เรือด้วย
ส่วนข้อ ๒. เกษียนหนังสือ เขียนถูกต้องแล้ว อ่านว่า กะ-เสียน-หนัง-สือ
เกษียน  ก. เขียน (สังเกต เกษียน มี น หนู และเขียน ก็มี น หนู)
น. ข้อความที่เขียนแทรกไว้เช่นในใบลาน, เรียกข้อความที่เขียนไว้บนหัวกระดาษคำสั่ง หรือหนังสือราชการว่า หัวเกษียน
เทคนิคการจำ เกษียนหนังสือ  หนังสือ ใช้ น หนู  เกษียน ก็ใช้ น หนูด้วย
ส่วนข้อ ๓. เกษียณอายุ เขียนถูกต้องแล้ว อ่านว่า กะ-เสียน-อา-ยุ
เกษียณ  ก. สิ้นไป (ใช้เกี่ยวกับการกำหนดอายุ)
freethaitestsbyP'Ray

๑๓. ตอบ ๔. ๕ คำ
คำตั้งหรือแม่คำ คือ คำที่ยกขึ้นตั้งเพื่อนิยามความหมาย
จากโจทย์จะเห็นว่า มีคำที่ยกขึ้นมานิยามความหมาย ๕ คำ

๑๔. ตอบ ๑. ๑ คำ
คือ คำว่า เมี่ยง จะเห็นว่ามีการใส่วงเล็บและเขียนว่า            (ถิ่น-พายัพ) เป็นการระบุถึงการใช้เฉพาะแห่ง

๑๕. ตอบ ๓. กับข้าวมื้อนี้มีผัดบรอกโคลีด้วย
บรอกโคลี เป็นคำทับศัพท์ ที่มาจากภาษาอังกฤษว่า Broccoli
ส่วนข้อ ๑. เออเรอ ใช้คำไทยว่า ข้อผิดพลาด ความผิดพลาด
ข้อ ๒. เลกเชอร์ ใช้คำไทยว่า คำบรรยาย               และข้อ ๔. ชัวร์  ใช้คำไทยว่า แน่ใจ มั่นใจ

กลับไปดู แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๑-๑๕)

วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๖-๑๐)

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๖-๑๐)

๖. ข้อใดเป็นคำซ้อนทุกคำ

๑. เชื่องช้า ชิงชัง เดินช้า
๒. จริงจัง จานบิน แจกแจง
๓. อ่อนใจ อ่อนน้อม อ่อนนุ่ม
๔. รุกราน รุ่มร่าม เรี่ยราย



๗. ข้อใดมีคำประสมทุกคำ
๑. หัวหน้าชั้น หัวใจ หัวหู
๒. นักการเมือง นักบิน นักเรียน 
๓. แม่พระ แม่บ้าน แม่นอน
๔. กะลาสี กะโหลก กะเทย


๘. คำในข้อใดเป็นคำมูลสามพยางค์ทุกคำ

๑. วิตถาร เจียระไน มะละกอ
๒. บาดทะยัก กะพง มะละกา 
๓. เจรจา นาฬิกา กระดาน

๔. สารพัด รอมร่อ ซอมซ่อ


๙. ท่านไซร้ได้ปกครอง            ธรณินทร์

เป็นอิศวรไกรในดิน                   ทวีปนี้

คำทุกคำในข้อใดมีลักษณะการสร้างคำเหมือนกับคำว่า ธรณินทร์

๑. สุพรรณบุรี ฤทธานุภาพ
๒. ธานินทร์ ผลไม้

๓. โกสินทร์ นเรนทร์
๔. ไพรินทร์ พระเขนย



๑๐. ข้อใดเรียงลำดับประเภทของคำดังต่อไปนี้ คำซ้อน คำประสม คำสมาส

๑. เก้งก้าง ไฟฟ้า อัคคีภัย
๒. กิตติคุณ บุญฤทธิ์ วีรบุรุษ

๓. ดูแล เผ็ดร้อน แยกย้าย
๔. ตามแต่ นอกจาก ยกเว้น

เฉลย แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๖-๑๐)

เฉลยแนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๖-๑๐)

๖. ตอบ ๔. รุกราน รุ่มร่าม เรี่ยราย
คำซ้อน คือ การนำคำมูล ๒ คำหรือมากกว่านั้น ที่มีความหมายหรือเสียงใกล้เคียงกันหรือเหมือนกันมาซ้อนกัน
คำซ้อน มี ๔ ลักษณะ ดังนี้
๑)คำซ้อนมีความหมายเหมือนกัน เช่น เงียบสงบ
คำซ้อนมีความหมายคล้ายกัน เช่น เจ็บไข้
คำซ้อนมีความหมายตรงข้าม เช่น พ่อแม่ ดีชั่ว
๒)คำซ้อนมีเสียงใกล้เคียงกันมาเข้าคู่กัน เช่น ชิงชัง ขมุกขมัว
๓)คำซ้อนที่มี ๒ คำ จะมีน้ำหนักเท่ากันทั้ง ๒ คำ ไม่มีใครเด่นกว่ากัน
๔)คำซ้อนเกิดความหมายใหม่หรือมีความหมายใกล้เคียงกับความหมายเดิมก็ได้
คำประสม คือ การนำคำมูล ๒ คำหรือมากกว่านั้น ที่มีความหมายไม่เหมือนกันมาประสมกัน
คำประสม มี  ๓ ลักษณะ ดังนี้
๑)คำประสมความหมายไม่เหมือนกัน ไม่คล้ายกัน และไม่ตรงข้ามกัน เช่น รถไฟ
๒)คำประสมน้ำหนักอยู่ตัวหน้า เช่น ใจดี
๓)คำประสมเกิดความหมายใหม่เสมอ เช่น ทะเลทราย
เทคนิค การแยกความแตกต่างระหว่างคำประสมกับประโยคหรือกลุ่มคำหรือวลี มีดังนี้
๑)คำประสมเกิดความหมายใหม่เสมอ มีความหมายเดียวและเป็นคำเดียว เช่น ทุเรียนกวน
ส่วนประโยคหรือกลุ่มคำหรือวลี แต่ละคำมีความหมายคงที่ เช่น ทุเรียนเน่า
๒)คำประสมจะอยู่ติดกัน ไม่สามารถนำคำอื่นมาแทรกกลางได้
ส่วนประโยคหรือกลุ่มคำหรือวลี นำคำอื่นมาแทรกกลางได้ เช่น ทุเรียนนั้นเน่า
๓)คำประสมทำเองไม่ได้ ต้องถูกกระทำ เช่น ทุเรียนกวน
ส่วนประโยคหรือกลุ่มคำหรือวลี ทำกริยาด้วยตนเองได้ เช่น ทุเรียนเน่า
สังเกต ประโยคหรือกลุ่มคำหรือวลี มักมีโครงสร้าง คำนาม + คำกริยา/คำคุณศัพท์
แต่ไม่เสมอไปนะจ๊ะ เช่น ไฟ + ฉาย = ไฟฉาย เป็นคำประสมจ้า
จากโจทย์ ข้อ ก. เดินช้า  ข้อ ข. จานบิน  ข้อ ค. อ่อนใจ   
ล้วนเป็นคำประสม

๗. ตอบ ๒. นักการเมือง นักบิน นักเรียน
จำให้ขึ้นใจ คำประสมเกิดความหมายใหม่เสมอ
จากโจทย์ ข้อ ก. หัวหู เป็นคำซ้อน เพราะนำคำที่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงมาซ้อนกัน
ข้อ ค. แม่นอน เป็นประโยค เพราะมีคำกริยา นอนและแต่ละคำมีความหมายคงที่ ไม่เกิดความหมายใหม่
ข้อ ง. ทุกคำล้วนเป็นคำมูลหลายพยางค์
คำมูล คือ คำที่มาจากภาษาดั้งเดิม มีความหมายชัดเจนในตัวเอง แบ่งแยกพยางค์ออกจากกันไม่ได้ อาจเป็นคำไทยแท้หรือคำที่มาจากภาษาอื่นก็ได้ โดยแต่ละพยางค์อาจมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้
คำมูลแบ่ง 2 ประเภท คือ คำมูลพยางค์เดียวและคำมูลหลายพยางค์
เทคนิค การสังเกตคำมูล ลองนำคำนั้นมาแยกแต่ละพยางค์ออกจากกัน จะพบว่า แต่ละพยางค์จะไม่มีความหมาย ต้องอยู่รวมกันคำนั้นถึงจะมีความหมาย เช่น พิถีพิถัน

๘. ตอบ ๔. สารพัด รอมร่อ ซอมซ่อ
จากโจทย์ ข้อ ก. วิตถาร อ่านว่า วิด ถาน               
ข้อ ค. เจรจา อ่านว่า เจน ระ จา หรือ เจน จา
ข้อ ง. รอมร่อ อ่านว่า รอม มะ ร่อ ส่วน ซอมซ่อ อ่านว่า ซอม มะ ซ่อ (อ่านกันให้ถูกต้องนะจ๊ะ)

๙. ตอบ ๓. โกสินทร์ นเรนทร์
เทคนิค คำสมาสคำสนธิ ให้ท่องว่า สมาสชน สนธิเชื่อมหรือ สมาสชน มักอ่านอะ สนธิเชื่อม มักแทรก อ อ่าง
คำสมาส คือ การนำคำบาลีสันสกฤตตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป มาชนหรือต่อกัน เป็นการสร้างคำใหม่ มีความหมายใหม่ มักเรียกว่า คำสมาสแบบสมาส มีลักษณะ ดังนี้
๑)นิยมอ่าน เสียงอะ ที่พยางค์ท้ายของคำแรก เช่น ราชการ อ่านว่า ราด ชะ กาน
๒)ถ้าพยางค์ท้ายของคำแรก เป็นเสียงสระ อิ อุ หรือสระอื่น ๆ ให้อ่านตามเสียงสระนั้น เช่น
อุบัติเหตุ อ่านว่า อุ บัด ติ เหด           
ธาตุเจดีย์ อ่านว่า ทาด ตุ เจ ดี
๓)ยกเว้นบางคำไม่ออกเสียงอะที่พยางค์ท้ายของคำแรก เช่น
ชลบุรี อ่านว่า ชน บุ รี สุพรรณบุรี อ่านว่า สุ พัน บุ รี
คำสนธิ คือ การนำคำบาลีสันสกฤตตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป มาเชื่อมเสียงท้ายของคำหน้ากับเสียงต้นของคำที่ตามมา ให้กลมกลืนกัน  หรือคำสนธิ ก็คือ คำสมาสที่กลมกลืนเสียง มักเรียกว่า คำสมาสแบบสนธิ มีลักษณะ ดังนี้
๑)สระสนธิ คือ เชื่อมเสียงสระ โดยเสียงท้ายของคำหน้าเป็นสระ เสียงต้นของคำที่ตามมาก็เป็นสระ เช่น
ภักษะ + อาหาร = ภักษาหาร (อาหารที่กินประจำ)
๒)พยัญชนะสนธิ คือ เชื่อมเสียงพยัญชนะ โดยเสียงท้ายของคำหน้าเป็นพยัญชนะ เสียงต้นของคำที่ตามมาก็เป็นพยัญชนะหรือสระก็ได้ เช่น ราชัน + โอรส = ราโชรส (โอรสของพระราชา)
๓)นิคหิตสนธิ คือ เชื่อมเสียงนิคหิต โดยเสียงท้ายของคำหน้าเป็นนิคหิต เสียงต้นของคำที่ตามมาก็เป็นพยัญชนะหรือสระก็ได้ เช่น สํ + ผัสสะ = สัมผัส (การจับต้อง)
จากโจทย์ นึกถึงเทคนิค คำสมาสคำสนธิ ให้ท่องว่า สมาสชน สนธิเชื่อมหรือ สมาสชน มักอ่านอะ สนธิเชื่อม มักแทรก อ อ่างจะเห็นว่า ธรณินทร์ เป็นคำสนธิ เกิดจาก ธรณี + อินทร์ = ธรณินทร์ (ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน)
ข้อ ค. โกสินทร์ เป็นคำสนธิ เกิดจาก โกสี + อินทร์    นเรนทร์ ก็เป็นคำสนธิ เกิดจาก นร + อินทร์ = นรินทร์ หรือ นเรนทร์ ก็ได้
ส่วนข้อ ก. สุพรรณบุรี เป็นคำสมาสแบบชน                         ฤทธานุภาพ เป็นคำสนธิ เกิดจาก ฤทธิ + อานุภาพ 
ข้อ ข. ธานินทร์ เป็นคำสนธิ เกิดจาก ธานี + อินทร์ 
ส่วนผลไม้ เป็นคำประสม ถึงแม้คำว่า ผลจะมาจากภาษาบาลีสันสกฤต แต่คำว่า ไม้เป็นคำไทยแท้
ข้อ ง. ไพรินทร์ เป็นคำสนธิ เกิดจาก ไพรี + อินทร์   พระเขนย ไมใช่คำสนธิ เพราะเขนยเป็นคำภาษาเขมร

๑๐. ตอบ ๑. เก้งก้าง ไฟฟ้า อัคคีภัย
เก้งก้าง เป็นคำซ้อน เพราะคำซ้อน คือ การนำคำมูล ๒ คำหรือมากกว่านั้น ที่มีความหมายหรือเสียงใกล้เคียงกันหรือเหมือนกันมาซ้อนกัน
ไฟฟ้า เป็นคำประสม เพราะคำประสม คือ การนำคำมูล ๒ คำหรือมากกว่านั้น ที่มีความหมายไม่เหมือนกันมาประสมกัน
จำให้แม่น คำประสมเกิดความหมายใหม่เสมอ
อัคคีภัย เป็นคำสมาส เพราะคำสมาส หมายถึง การนำคำบาลีสันสกฤตตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป มาชนหรือต่อกัน เป็นการสร้างคำใหม่ มีความหมายใหม่ มักเรียกว่า คำสมาสแบบสมาส ซึ่งคำว่า อัคคี และ ภัย เป็นคำบาลีทั้งคู่
ส่วนข้อ ๒. กิตติคุณ บุญฤทธิ์ วีรบุรุษ  เป็นคำสมาส
ข้อ ๓. ดูแล เผ็ดร้อน แยกย้าย เป็นคำซ้อน                         
ข้อ ๔. ตามแต่ นอกจาก ยกเว้น เป็นคำประสม (ข้อนี้ตอบถูกกันไหมเอ่ย)

กลับไปดู แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๖-๑๐)