วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑-๕)


สวัสดีค่ะน้องๆยินดีต้อนรับสู่บล็อก freethaitests.blogspot.com ค่ะ พี่เรย์เจ้าเก่าเองนะจ๊ะ เปิดบล็อกใหม่เพราะมีแนวข้อสอบภาษาไทยมาแบ่งป้นกันค่ะ พี่เรย์จบเอกภาษาไทยมา เลยมีข้อสอบภาษาไทยเยอะมากๆ เอาไว้เป็นคลังข้อสอบสำหรับคนที่กำลังจะสอบ O-Net ละกันนะคะ ถ้าใครจะเอาไปเผยแพร่ก็เข้ามาขอกันก่อนนะจ๊ะ แต่ถ้าใครเข้ามาทำข้อสอบแล้วได้คะแนนเท่าไหร่บ้างคอมเม้นท์บอกกันได้นะคะ เป็นกำลังใจให้น้องๆ ที่กำลังจะสอบO-Netค่ะ ขอให้สอบได้คะแนนเยอะๆ กันทุกคนเลยนะจ๊ะ เอาล่ะพูดมากแล้ว ไปทำข้อสอบกันเถอะ

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑-๕)

ใช้คำประพันธ์ต่อไปนี้ ตอบคำถาม ข้อ๑-๓


ก. จงรักนวลสงวนนามห้ามใจไว้   

ข. อย่าหลงใหลจำคำที่ร่ำสอน

ค. คิดถึงหน้าบิดาและมารดร        

ง. อย่ารีบร้อนเร็วนักมักไม่ดี



๑. ข้อใดมีเสียงสระประสม

๑. ข้อ ก.                 ๒. ข้อ ข.                  ๓. ข้อ ค.                 ๔. ข้อ ง.



๒. ข้อใดมีอักษรต่ำน้อยที่สุด(ไม่นับอักษรที่ซ้ำกัน)

๑. ข้อ ก.                 ๒. ข้อ ข.                  ๓. ข้อ ค.                 ๔. ข้อ ง.



๓. ข้อใดมีอักษรนำมากที่สุด

๑. ข้อ ก.           ๒. ข้อ ข.            ๓. ข้อ ค.           ๔. ข้อ ง.



๔. คำในข้อใดมีตัวสะกดมาตราเดียวกับ กฎเกณฑ์ทุกคำ

๑. จดหมาย ทอดปลา กระเด็น      
๒. ทรุดโทรม ปลดแอก ประสาน
๓. ชัดเจน เหตุการณ์ โดดเรียน    
๔.เวทมนตร์ ปรับทุกข์ จดจ่อ



๕. คำซ้ำในข้อใดมีความหมายเป็นพหูพจน์

๑. โจทย์ข้อนี้กล้วย ๆ หมู ๆ           
๒. เธอเย็บผ้าอย่างลวก ๆ
๓. รู้งู ๆ ปลา ๆ ทำอะไรก็สู้เขาไม่ได้ 
๔. ในหม้อนี้ มีแต่ปลาเน่า ๆ

v
v
v

เฉลยแนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑-๕)

๑.ตอบ ๑. ข้อ ก.
                สระประสมหรือสระเลื่อน เกิดจากการนำสระเดี่ยวหรือสระแท้ ๒ ตัว มาประสมกัน และเกิดการเลื่อนของเสียงจาก สระ อิ อี อึ อื อุ อู ไปหาสระ อะ อา ดังนี้
                อิ + อะ = เอียะ                      อี + อา = เอีย
                อึ + อะ = เอือะ                      อื + อา = เอือ
                อุ + อะ = อัวะ                       อู + อา = อัว
                ในภาษาไทยปัจจุบัน นักภาษาศาสตร์ถือว่าเสียงสระประสมมี ๓ หน่วยเสียงเท่านั้น คือ เอียะ เอีย, เอือะ เอือ, อัวะ อัว
                เทคนิคการจำสระประสม ให้ท่องว่า เชื่ออั๊วเรียน” (เชื่อ = สระ เอือ), (อั๊ว = สระ อัว), (เรียน = สระ เอีย)
จากโจทย์จะเห็นว่า ข้อ ก. มีสระ อัว ในคำว่า นวล และ สงวน (ง่ายป่ะล่ะ)

๒. ตอบ ๔. ข้อ ง.
                รูปพยัญชนะไทยมี ๔๔ ตัว โดยแบ่งเป็น
อักษรกลาง ๙ ตัว คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป อ
(เทคนิคการจำ อักษรกลาง ๙ ตัว คือ ไก่ จิก เด็ก ตาย เฎ็ก ฏาย บน ปาก โอ่ง)
อักษรสูง ๑๑ ตัว คือ ข ฃ ฉ ถ ฐ ผ ฝ ศ ษ ส ห
(เทคนิคการจำ อักษรสูง ๑๑ ตัว คือ ขว้าง ฃวด เฉียด ถูก ฐาน ผึ้ง ฝา ศาลา ฤๅษี เสือ หีบ)
อักษรต่ำ ๒๔ ตัว แบ่งเป็นอักษรต่ำเดี่ยว ๑๐ ตัว และอักษรต่ำคู่ ๑๔ ตัว โดยอักษรต่ำคู่จะมีคู่เสียงกับอักษรสูง ดังนี้
       อักษรสูง               อักษรต่ำคู่
       ข ฃ                      ค ฅ ฆ
       ฉ                          ช ฌ
       ถ ฐ                       ท ฑ ฒ ธ                     
       ผ                          พ ภ
       ฝ                          ฟ
       ศ ษ ส                    ซ
       ห                           ฮ
อักษรต่ำเดี่ยว ๑๐ ตัว คือ ง ญ น ย ณ ร ว ม ฬ ล
(เทคนิคการจำ อักษรต่ำเดี่ยว ๑๐ ตัว คือ งู ใหญ่ นอน อยู่ ณ ริม วัด โม ฬี โลก)
โจทย์ถามว่า มีอักษรต่ำน้อยที่สุด(ไม่นับอักษรที่ซ้ำกัน) จึงต้องนับทั้งพยัญชนะต้นและพยัญชนะท้าย(ตัวสะกด) เพราะโจทย์ไม่ได้กำหนดอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องนับหมด
จะเห็นว่า ข้อ ก. จงรักนวลสงวนนามห้ามใจไว้   มีอักษรต่ำที่ไม่ซ้ำกัน ๖ ตัว
ข้อ ข. อย่าหลงใหลจำคำที่ร่ำสอน    มีอักษรต่ำที่ไม่ซ้ำกัน ๖ ตัว
ข้อ ค. คิดถึงหน้าบิดาและมารดร   มีอักษรต่ำที่ไม่ซ้ำกัน ๖ ตัว
ข้อ ง. อย่ารีบร้อนเร็วนักมักไม่ดี   มีอักษรต่ำที่ไม่ซ้ำกัน ๕ ตัว

๓. ตอบ ๒. ข้อ ข.
                อักษรนำ คือ การอ่านแบบมีเสียง ห นำ หมายถึง พยัญชนะต้น ๒ ตัว ประสมด้วยสระและตัวสะกดเดียวกัน
อักษรนำ มี ๓ ประเภท ดังนี้
๑)อักษรสูงหรืออักษรกลาง นำหน้า อักษรต่ำเดี่ยว  ให้ออกเสียงอักษรต่ำเดี่ยวตามเสียงอักษรสูงหรืออักษรกลางที่นำหน้าอยู่ โดยให้อ่านออกเสียง อะ ที่พยางค์แรก เช่น จรวด  จ จาน เป็นอักษรกลาง  ร เรือ เป็นอักษรต่ำเดี่ยว ให้ออกเสียงตาม จ จาน จึงอ่านว่า จะ หรวด
๒)ห นำ อักษรต่ำเดี่ยว เช่น หนา หมา เป็นต้น
๓)อ อ่าง นำ ย ยักษ์ มี ๔ ตัวเท่านั้น คือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก เป็นต้น
จากโจทย์จะเห็นว่า ข้อ ข. มีคำว่า อย่า หลงใหล อ่านแบบอักษรนำถึง ๒ คำ
ส่วนข้อ ก. มีคำว่า สงวน  ข้อ ค. มีคำว่า หน้า  และข้อ ง. มีคำว่า อย่า  เพียงคำเดียวเท่านั้น (ง่ายใช่ไหมล่ะ)
freethaitestsbyP'Ray

๔. ตอบ ๓. ชัดเจน เหตุการณ์ โดดเรียน
จากโจทย์จะเห็นว่า กฎมีตัวสะกด ด เด็ก ส่วน เกณฑ์มีตัวสะกด น หนู ซึ่งตรงกับตัวเลือก ๓

๕. ตอบ ๔. ในหม้อนี้ มีแต่ปลาเน่า ๆ
จากโจทย์จะเห็นว่า ข้อ ๑. กล้วย ๆ หมู ๆ ไม่ใช่กล้วยหรือหมูหลายตัว แต่มีความหมายว่า ง่าย สะดวก
ข้อ ๒. ลวก ๆ หมายถึง หยาบ ๆ ไม่เรียบร้อย
ข้อ ๓. งู ๆ ปลา ๆ ไม่ใช่งูหรือปลาหลายตัว แต่หมายถึง รู้ไม่จริง มีความรู้เล็กน้อย
ข้อ ๔. เน่า เป็นคำคุณศัพท์ เมื่อนำมาซ้ำกัน จะมีความหมายเป็นพหูพจน์ (ข้อนี้ก็ไม่ยากนะ สู้ ๆ)

กลับไปดูข้อสอบ  แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑-๕)