วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๖-๒๐)

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๖-๒๐)

๑๖. คำในข้อใดต่อไปนี้เป็นศัพท์บัญญัติจากคำภาษาอังกฤษทุกคำ
๑. สุนทร สุนทรี สุนทรียภาพ
๒. ไม้ใกล้ฝั่ง ไม้คมแฝก ไม้ขีดไฟ
๓. กองข้าว กองฟาง กองทุน
๔. แผนที่ แผนผัง แผ่นปลิว

๑๗. สำนวนไทยในข้อใดไม่มีคำยืมภาษาบาลีสันสกฤต
๑. รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
๒. ยกเมฆ
๓. ปากกัดตีนถีบ
๔. พูดดีเป็นศรีแก่ตัว

๑๘. ข้อใดต่อไปนี้ใช้คำลักษณนามไม่ถูกต้อง
๑. ประเทศไทยมีสโมสรฟุตบอลอยู่หลายสโมสร
๒. วัดนี้มีพระพุทธรูปเก่าโบราณสมัยทวารวดีอยู่ ๒ รูป
๓. ห้างสรรพสินค้านี้มีบันไดเลื่อน ๑๐ ตัว
๔. บริษัทนี้มีลิฟต์ขนถ่ายสินค้า ๕ ตัว

๑๙.จากข้อความต่อไปนี้มีสันธานและบุพบทกี่คำ
      ในกาแฟมีสารคาเฟอีนที่ช่วยขจัดความเหนื่อยล้า เพิ่มความกระปรี้กระเปร่าให้กับร่างกาย แต่ละวันเราควรได้รับสารคาเฟอีนไม่เกิน ๒๕๐ มิลลิกรัม หรือกาแฟ ๒ – ๓ ถ้วย การดื่มกาแฟปริมาณมากเกินไป ทั้งทำลายการนอนหลับ และยังก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ

๑. สันธาน ๓ คำ บุพบท ๒ คำ
๒. สันธาน ๓ คำ บุพบท ๓ คำ
๓. สันธาน ๒ คำ บุพบท ๓ คำ
๔. สันธาน ๒ คำ บุพบท ๒ คำ

๒๐.จากข้อความต่อไปนี้มีคำนามและคำกริยาหลักอย่างละกี่คำ(ไม่นับคำซ้ำ)
      เมืองที่ใหญ่เกินไป ถ้าบริหารไม่ดี จะเกิดปัญหามากมาย ทั้งการจราจรติดขัด จำนวนประชากรหนาแน่นมากเกินไป ก็จะเกิดปัญหาอาชญากรรมได้ง่าย และหน่วยงานภาครัฐก็บริการแก่ประชาชนได้ไม่เต็มที่
๑. นาม ๔ คำ กริยา ๑ คำ
๒. นาม ๕ คำ กริยา ๒ คำ
๓. นาม ๖ คำ กริยา ๓ คำ
๔. นาม ๗ คำ กริยา ๔ คำ

เฉลย แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๖-๒๐)

เฉลยแนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๖-๒๐)

๑๖. ตอบ ๔. แผนที่ แผนผัง แผ่นปลิว
ศัพท์บัญญัติ หมายถึง การสร้างคำขึ้นใหม่ โดยใช้คำไทยแปลคำภาษาอังกฤษ บางทีมิใช่การแปลโดยตรง แต่เป็นการใช้คำไทยแทนที่คำภาษาอังกฤษ บางคำต้องใช้คำบาลีสันสกฤตแปลคำภาษาอังกฤษ ซึ่งส่วนมากเป็นคำสมาสที่สร้างใหม่ในภาษาไทย

จะเห็นว่าตัวเลือกข้อ ๔. เป็นศัพท์บัญญัติจากภาษาอังกฤษทุกคำ
แผนที่ – map แผนผัง – plan แผ่นปลิว – sheet
ส่วนข้อ ๑. สุนทรียภาพ – aesthetics
ข้อ ๒. ไม้ขีดไฟ – match   ข้อ ๓. กองทุน – fund

๑๗. ตอบ ๓. ปากกัดตีนถีบ
เทคนิคการทำ ถ้าเจอโจทย์ลักษณะนี้ ให้หาคำไทยแท้ก่อนเป็นอันดับแรก
ลักษณะของคำไทยแท้ มี ๕ ข้อสำคัญคือ
๑)ส่วนใหญ่เป็นคำโดดพยางค์เดียว ไม่ควบกล้ำ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย
๒)ไม่มีตัวการันต์ เช่น กัน นาง
๓)สะกดตรงตามมาตรา เช่น กับ(แม่กบ) สาว(แม่เกอว)
๔)จะใช้รูป “ไอ” กับ “ใอ” เท่านั้น ไม่ใช่รูป“อัย” เช่น ใน ใจ
๕)วรรณยุกต์มีทั้งมีรูปและไม่มีรูป เพื่อแสดงความหมาย เช่น ปา ป่า ป้า
จากโจทย์ จะเห็นว่าข้อ ๓. เป็นคำโดดพยางค์เดียว และสะกดตรงตามมาตรา
ส่วนข้อ ๑. โทษ เป็นคำยืมภาษาสันสกฤต เพราะมี ษ
ข้อ ๒. เมฆ เป็นคำยืมภาษาบาลี
ข้อ ๔. ศรี เป็นคำยืมภาษาสันสกฤต เพราะมี ศ

๑๘. ตอบ ๒. วัดนี้มีพระพุทธรูปเก่าโบราณสมัยทวารวดีอยู่ ๒ รูป
พระพุทธรูป ใช้ลักษณนามว่า องค์ รวมทั้ง พระพิมพ์ ก็ใช้ลักษณนามว่า องค์ ด้วย
ส่วนข้อ ๑. สโมสร ใช้ลักษณนามว่า สโมสร
ข้อ ๓. บันไดเลื่อน ใช้ลักษณนามว่า ตัว; แห่ง
ข้อ ๔. ลิฟต์ ใช้ลักษณนามว่า ตัว
freethaitestsbyP'Ray

๑๙. ตอบ ๑. สันธาน ๓ คำ บุพบท ๒ คำ
สันธาน คือ คำเชื่อมประโยคให้เป็นเรื่องเดียวกัน สันธานอยู่ระหว่าง ๒ ประโยค
เทคนิคจำ ป.ย.+สันธาน+ป.ย.(ประโยคหากริยาแท้ให้เจอจบ) (ป.ย.คือตัวย่อของประโยค)

สันธานที่สำคัญมี ๕ กลุ่มหลัก คือ
๑.เชื่อมเนื้อความคล้อยตามกัน ได้แก่ และ, กับ, ก็_ _ _จึง, ครั้น_ _ _ก็, ครั้น_ _ _จึง, ทั้ง_ _ _ก็, ทั้ง_ _ _และ, พอ_ _ _ก็, แล้วก็, แล้ว_ _ _ก็, แล้วจึง, แล้ว_ _ _จึง
๒.เชื่อมเนื้อความขัดแย้งกัน ได้แก่ แต่, แต่ทว่า, แต่ว่า, แต่_ _ _ก็, กว่า_ _ _ก็, ถึง_ _ _ก็, ทว่า, ทว่า_ _ _ก็, แม้_ _ _ก็, ส่วน
๓.เชื่อมเนื้อความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ หรือ, หรือไม่ก็, มิฉะนั้นก็, ไม่เช่นนั้น
๔.เชื่อมเนื้อความให้เป็นเหตุเป็นผล ได้แก่ เพราะ, เพราะฉะนั้น, จึง, ฉะนั้น_ _ _จึง, ดังนั้น, เนื่องจาก
๕.เชื่อมเนื้อความเงื่อนไข ได้แก่ ถ้า, ถ้าหาก, ถ้า_ _ _ก็, หาก
เทคนิคจำตัวหลัก และ-คล้อยตาม แต่-ขัดแย้ง หรือ-เลือก เพราะ-เหตุผล ถ้า-เงื่อนไข
บุพบท คือ คำเชื่อมคำนามหรือสรรพนามให้ต่อเนื่องกัน บุพบทอยู่ระหว่างคำในประโยค
เทคนิคจำ ป.ย.+บุพบท+คำนาม/สรรพนาม
บุพบทที่สำคัญมีดังนี้
๑.กับ ด้วย ใช้หน้าคำนามที่อาศัยกริยาทำ มักอยู่ในโครงสร้าง กริยา+กับ/ด้วย+คำนาม เช่น เจอกับตัว ขัดด้วยแปรง
๒.แก่ ใช้หน้าคำนามผู้รับ เช่น เธอให้ขนมแก่เด็ก (เทคนิคจำ ผู้ใหญ่ให้ผู้น้อยใช้ “แก่”)

๓.แด่ ใช้หน้าคำนามผู้รับ ในเชิงเคารพ เช่น เขาถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ (เทคนิคจำ ผู้น้อยให้ผู้ใหญ่ใช้ “แด่”)
๔.ต่อ ใช้หน้าคำนาม มีความหมายว่าเฉพาะหรือประจันหน้า เช่น เขายื่นคำร้องต่อศาล
๕.ที่ ใช้หน้าคำนามที่เป็นสถานที่ เช่น ฉันกินข้าวที่บ้าน
๖.ใน ใช้หน้าคำนามแสดงสถานที่ เช่น จดหมายอยู่ในลิ้นชัก
ใช้หน้าคำนามบุคคลเพื่อแสดงความเคารพนับถือ เช่น มัทนะพาธาเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
๗.เพื่อ ใช้หน้าคำนามบอกสาเหตุ เช่น สู้เพื่อแม่
๘.ของ แห่ง ใช้หน้าคำนามแสดงความครอบครองหรือเป็นเจ้าของ เช่น บ้านของเรา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
๙.จาก ใช้หน้าคำนาม มีความหมายว่าพรากไป พ้นไป หรือแยกไป เช่น เขาดื่มนมจากขวด
จากโจทย์ สันธาน+ป.ย.(ประโยคหากริยาแท้ให้เจอจบ)
สันธานตัวแรก คือ หรือ เป็นการเชื่อมเนื้อความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
สันธานตัวที่๒และ๓ คือ ทั้ง_ _ _และ สันธานคู่นี้จะไปด้วยกันเสมอ
บุพบท+คำนาม/สรรพนาม
บุพบทตัวแรก คือ ใน (+คำนาม ในที่นี้คือ กาแฟ)
บุพบทตัวที่๒ คือ กับ (จากโจทย์คือ ให้กับร่างกาย)
ข้อสังเกต เราสามารถแยกความแตกต่างได้ว่า เมื่อใด “กับ” เป็นบุพบทหรือสันธาน ได้ดังนี้
๑.ถ้า “กับ” เป็นบุพบท จะอยู่ในโครงสร้าง กริยา+กับ+คำนาม เช่น เจอกับตัว สังเกต กริยาจะอยู่หน้า “กับ” เสมอ
๒.ถ้า “กับ” เป็นสันธาน กริยาจะอยู่หน้าหรือหลัง “กับ” ก็ได้ เช่น  แก้วกับก้อยไปกินข้าว หรือ แก้วไปกินข้าวกับก้อย
ข้อสังเกต “ที่” (จากโจทย์คือ ที่ช่วยขจัดความเหนื่อยล้า) “ที่” ในโจทย์นี้เป็นประพันธสรรพนาม ไม่ใช่บุพบท สังเกตง่าย ๆ ดังนี้
๑.ถ้า “ที่” เป็นประพันธสรรพนาม จะอยู่ในโครงสร้าง ที่+กริยา เช่นจากโจทย์ ที่ช่วยขจัด (ช่วยขจัดเป็นกริยา)
(ตัวอย่างประพันธสรรพนาม เช่น ผู้ ที่ ซึ่ง อัน)
๒.ถ้า “ที่” เป็นบุพบท จะอยู่ในโครงสร้าง ที่+คำนาม เช่น ที่บ้าน

๒๐. ตอบ ๔. นาม ๗ คำ กริยา ๔ คำ
เทคนิค ถ้าเจอโจทย์แบบนี้ให้วงกลมและใส่หมายเลขที่คำในโจทย์ไปเลย
เมืองที่ใหญ่เกินไป ถ้าบริหารไม่ดี จะเกิดปัญหามากมาย ทั้งการจราจรติดขัด จำนวนประชากรหนาแน่นมากเกินไป ก็จะเกิดปัญหาอาชญากรรมได้ง่าย และหน่วยงานภาครัฐก็บริการแก่ประชาชนได้ไม่เต็มที่
นามตัวแรก คือ เมือง นามตัวที่๒ คือ ปัญหา
นามตัวที่๓ คือ การจราจร นามตัวที่๔ คือ จำนวนประชากร นามตัวที่๕ คืออาชญากรรม นามตัวที่๖ คือ หน่วยงานภาครัฐ นามตัวที่๗ คือ ประชาชน
กริยาตัวแรก คือ บริหาร กริยาตัวที่๒ คือ เกิด
กริยาตัวที่๓ คือ ตัดขัด กริยาตัวที่๔ คือ บริการ
ข้อสังเกต “จะ” เป็นกริยาช่วย “ก็” เป็นสันธาน

กลับไปดู แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๑๖-๒๐)