วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๖-๓๐)

แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๖-๓๐)

๒๖. ข้อใดต่อไปนี้ใช้คำถูกต้อง 

๑. ผู้ปกครองทุกท่านโปรดนำสูจิบัตรไปแสดงด้วยในวันมอบตัวนักเรียน
๒. เธอนำเรื่องทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาเผยแผ่ให้เพื่อนนักศึกษาได้เรียนรู้
๓. ทางโรงเรียนควรหามาตรฐานลงโทษนักเรียนที่มาเรียนสาย
๔. ประธานนักเรียนพูดเสียยืดยาวจนคนฟังง่วง


๒๗. ข้อใดต่อไปนี้ใช้คำฟุ่มเฟือย
๑. แม่บ้านกำลังทำความสะอาดห้องน้ำ
๒. คนดีควรจะต้องมีความกตัญญูรู้คุณเพราะความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี
๓. เขาเป็นคนเดียวที่รอดมาได้ในอุบัติเหตุครั้งนั้น
๔. เธอเสียใจอย่างมากกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา


๒๘. ข้อใดต่อไปนี้ใช้ภาษากำกวม
๑. ช่วงนี้ใกล้สอบเขาจึงมุมานะอ่านหนังสือ
๒. อ้นเป็นคนใช้อั้นไปซื้อของที่ตลาด 

๓. เขาป่วยไม่มาเรียนหนังสือหลายวันแล้ว 
๔. เธอดื่มนมเป็นประจำทุกเช้า


๒๙. ข้อความต่อไปนี้เหมาะสมที่จะเติมสำนวนใดลงในช่องว่าง
บ้านของสามีภรรยาคู่หนึ่ง เดิมเป็นทุ่งนามาก่อน สภาพบ้านค่อนข้างเก่า โดยเฉพาะห้องน้ำ ฝากั้นด้วยสังกะสีเป็นสนิมทั้งแผ่น ช่วงล่างติดกับดินแตกเป็นรู เพราะห้องน้ำมีรูนี้เอง ทำให้สามีภรรยาซึ่งอาศัยอยู่มีปากเสียงกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน เนื่องจากสามีผัดวันประกันพรุ่งในการซ่อมห้องน้ำ จนเกือบจะหย่าขาดจากกัน กลายเป็น_ _ _ _ _ _ ที่เกิดขึ้นได้เสมอกับสามีภรรยาแทบทุกคู่ 

๑. ผ่อนสั้นผ่อนยาว 
๒. น้ำผึ้งหยดเดียว
๓. ตีตนก่อนไข้ 

๔. ลางเนื้อชอบลางยา


๓๐. สำนวนในข้อใดไม่เกี่ยวกับการฟัง 

๑. เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา
๒. ตักน้ำรดหัวตอ 

๓. พกหินดีกว่าพกนุ่น 
๔. น้ำลดตอผุด


เฉลย แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๖-๓๐)

เฉลยแนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๖-๓๐)

๒๖. ตอบ ๔. ประธานนักเรียนพูดเสียยืดยาวจนคนฟังง่วง
ข้อสังเกต โจทย์เรื่อง การใช้คำถูกต้อง พึงระวังคำบางคำที่เหมือนกันหรือคล้ายกัน ซึ่งคำคล้ายกันแทนกันไม่ได้
ตัวเลือกข้อ ๑.ใช้ สูติบัตร หมายถึง เอกสารสำคัญแสดงการเกิด
ส่วน สูจิบัตร หมายถึง ใบหรือจุลสารหรือเอกสารแจ้งรายการ
ตัวเลือกข้อ ๒ ใช้ เผยแพร่ หมายถึง โฆษณาให้แพร่หลาย
ส่วน เผยแผ่ หมายถึง ทำให้ขยายออกไป มักใช้กับเรื่องศาสนา เช่น เผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
ตัวเลือกข้อ ๓. ใช้ มาตรการ หมายถึง วิธีการตัดสิน
ส่วน มาตรฐาน หมายถึง สิ่งที่ถือเป็นหลักสำหรับเทียบกำหนด


๒๗. ตอบ ๒. คนดีควรจะต้องมีความกตัญญูรู้คุณเพราะความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี
ฟุ่มเฟือยตรงคำว่า ความกตัญญู ควรแก้ไขเป็น ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี


๒๘. ตอบ ๒. อ้นเป็นคนใช้อั้นไปซื้อของที่ตลาด
ประโยคนี้กำกวม ตีความได้ ๒ ความหมายว่า อ้นเป็นคนใช้ของอั้น หรือ อ้นเป็นคนใช้อั้นให้ไปซื้อของที่ตลาด 




๒๙. ตอบ ๒. น้ำผึ้งหยดเดียว
น้ำผึ้งหยดเดียว หมายถึง การทำเรื่องเล็กน้อยให้กลายเป็นเรื่องใหญ่
เพราะจากโจทย์ แค่ห้องน้ำมีรู จนทะเลาะมีปากเสียงกันจนเกือบหย่าขาดกันนั่นเอง จึงใช้สำนวนนี้
ส่วนข้อ ๑. ผ่อนสั้นผ่อนยาว หมายถึง การประนีประนอมหรือเห็นอกเห็นใจกัน
ข้อ ๓. ตีตนก่อนไข้ หมายถึง กังวลหรือหวาดกลัวในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น
ข้อ ๔. ลางเนื้อชอบลางยา หมายถึง ของสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งชอบแต่อีกคนหนึ่งไม่ชอบ 




๓๐. ตอบ ๔. น้ำลดตอผุด หมายถึง คนที่ทำชั่วแล้วปกปิดความชั่วนั้นไว้ ต่อมาคนนั้นเกิดตกต่ำทำให้ความชั่วที่ปกปิดไว้ ถูกเปิดเผยออกมา ซึ่งเป็นสำนวนที่ไม่เกี่ยวกับการฟัง
ข้อ ๑. เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา หมายถึง บอกหรือสอนไม่ได้ผล ใช้เปรียบเทียบคนที่ไม่รู้จักฟัง
ข้อ ๒. ตักน้ำรดหัวตอ หมายถึง แนะนำพร่ำสอนเท่าไรก็ไม่ได้ผล ไม่ยอมรับหรือไม่เชื่อฟัง ใช้เปรียบเทียบคนที่ไม่รู้จักฟัง หรือฟังอะไรเข้าใจยาก
ข้อ ๓. พกหินดีกว่าพกนุ่น หมายถึง ทำใจให้หนักแน่น ไม่หูเบาเชื่อสิ่งที่ได้ยินได้ฟังโดยไม่ไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน



กลับไปดู แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๖-๓๐)