วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559

เฉลยแนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๑-๒๕)

๒๑. ตอบ ๑. การนอนกลางวันมีประโยชน์ต่อร่างกาย
ประโยคความเดียว คือ ประโยคที่มีเนื้อความหรือใจความเดียว สามารถยาวได้ แต่มีส่วนขยายเป็นแค่วลี
มักอยู่ในโครงสร้าง S1V1 โดยที่ S1 ย่อมาจาก Subject ประธาน ๑ ตัว ส่วน V1ย่อมาจาก Verb กริยา ๑ ตัว
เทคนิค ประโยคความเดียว หากริยาตัวเดียว จบ
จากข้อ ๑. ประธาน คือ การนอนกลางวัน กริยา คือ มี
ส่วนข้อ ๒. การนอนกลางวันที่มีประสิทธิภาพควรใช้เวลา ๑๕-๓๐ นาที
เป็นประโยคความซ้อน ชนิดคุณานุประโยค มักอยู่ในโครงสร้าง ป.ย.หลัก+ผู้ ที่ ซึ่ง อัน+กริยา
จะเห็นว่าตัวเลือกข้อ ๒. ที่+กริยา “มี” (ส่วนกริยาหลักคือ “ใช้”) 

ข้อ ๓. และข้อ ๔. เป็นประโยคความซ้อน ชนิดนามานุประโยค มักอยู่ในโครงสร้าง ป.ย.หลัก+ว่า/ให้+ป.ย.ย่อย เทคนิค ประโยคความซ้อน ๑.หากริยา ๒.หาคำเชื่อม ๘ ตัวหลักคือ ว่า ให้ ผู้ ที่ ซึ่ง อัน จน เพื่อ


๒๒. ตอบ ๒. ยายเลี้ยงไก่และปลูกผักสวนครัว
เป็นประโยคความรวม ที่เนื้อความคล้อยตามกัน ใช้คำเชื่อม ได้แก่ และ, กับ, พอ_ _ _ก็
ส่วนข้อ ๑. บ้านซึ่งอยู่ตรงเชิงเขาเป็นของยายฉันเอง
เป็นประโยคความซ้อน ชนิดคุณานุประโยค มักอยู่ในโครงสร้าง ป.ย.หลัก+ผู้ ที่ ซึ่ง อัน+กริยา
จะเห็นว่าตัวเลือกข้อ ๑. ซึ่ง+กริยา “อยู่” (ส่วนกริยาหลักคือ “เป็น”)
ข้อ ๓. ผักสวนครัวที่ปลูกในบ้านยายมีหลายอย่าง เช่น มะเขือ พริก แตงกวา
ก็เป็นประโยคความซ้อน ชนิดคุณานุประโยค เช่นกัน เพราะ ที่+กริยา “ปลูก” (ส่วนกริยาหลักคือ “มี”)

ข้อ ๔. ยายบอกว่าบ้านเชิงเขาอากาศสดชื่น เหมาะกับการผักผ่อน
เป็นประโยคความซ้อน ชนิดนามานุประโยค มักอยู่ในโครงสร้าง ป.ย.หลัก+ว่า/ให้+ป.ย.ย่อย

เทคนิค ประโยคความซ้อน ๑.หากริยา ๒.หาคำเชื่อม ๘ ตัวหลักคือ ว่า ให้ ผู้ ที่ ซึ่ง อัน จน เพื่อ


๒๓. ตอบ ๓. การอ่านหนังสือที่ช่วยให้คนฉลาดสามารถเอาตัวรอดได้
เพราะประโยค ประกอบด้วย ภาคประธาน+ภาคแสดง(คำกริยา/คำคุณศัพท์)
ตัวเลือกข้อ ๓. ขาดกริยาแท้ เป็นแค่กลุ่มคำ เป็นประโยชน์ที่ไม่สมบูรณ์ 

เห็นได้จากวลี “ที่ช่วยให้คนฉลาดสามารถเอาตัวรอดได้” ขยายคำว่า การอ่านหนังสือ


๒๔. ตอบ ๓. ช่วงนี้เขาดูเครียดมากพูดจาไม่เข้าหูคนเลย
ตัวเลือกข้อ ๓. มีน้ำเสียงแตกต่างจากข้ออื่น คือ มีน้ำเสียงเชิงตำหนิ ตรงคำว่า “ไม่เข้าหู” แปลว่า ไม่น่าฟัง ไม่ไพเราะ


๒๕. ตอบ ๔. ผ้าขาว ขาใหญ่
ความหมายตามตัว คือ แปลความหมายตรงตัวตามอักขระ
ความหมายเชิงอุปมา คือ ความหมายแฝง เป็นการแปลเปรียบเทียบ โดยเปรียบความหมายหนึ่งกับพฤติกรรมหรือลักษณะที่มีการเทียบเคียงกัน เกี่ยวข้องกัน
ผ้าขาว ความหมายตามตัว คือ ผ้าที่มีสีขาว
            ความหมายเชิงอุปมา คือ สะอาด บริสุทธิ์ ผู้หญิงหรือเด็กที่ไร้เดียงสา
ขาใหญ่ ความหมายตามตัว คือ ขาที่มีขนาดใหญ่
             ความหมายเชิงอุปมา คือ ผู้มีอิทธิพล


กลับไปดู แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๒๑-๒๕)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น