วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เฉลยแนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๓๑-๓๕)

๓๑. ตอบ ๔. งานนิทรรศการสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นจัดแสดง ณ ที่ว่าการอำเภอ เป็นภาษาทางการ
ระดับของภาษา แบ่งเป็น ๕ ระดับ ดังนี้
๑)พิธีการ สังเกตคำว่า “พิธี” ต้องนาน ๆ มีครั้ง แสดงถึงความสำคัญ จึงใช้กับบุคคลที่เคารพสูงสุด เช่น การกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ มีการใช้คำราชาศัพท์ และคำที่ใช้เรียกขานในศาล
๒)ทางการ เป็นภาษาเขียน ใช้ในงานราชการ งานวิชาการ ใช้กล่าวสุนทรพจน์ ใช้ในการประชุมอย่างเป็นทางการ ใช้บันทึกรายงานการประชุม มักใช้คำบัญญัติศัพท์ เป็นภาษาสุภาพเท่ากันทั้งประโยค
๓)กึ่งทางการ จะมีภาษาปากตั้งแต่ ๑ คำเป็นต้นไป ปนรวมกับภาษาทางการ ใช้คำย่อที่ราชการยอมรับ ใช้เครื่องหมายคำซ้ำ(ๆ) มักลงท้ายว่า นะ คะ ค่ะ ด้วย จัง เลย หน่อย เถอะ จ๊ะ เทอญ
๔)สนทนา ใช้พูดกับคนคุ้นเคยแต่ไม่สนิท เป็นภาษาง่าย ๆ มักออกเสียงไม่ชัดเจน มีการรวบคำหรือกร่อนคำ มีการละประธานและซ้ำคำ มีการใช้คำสแลงและคำลงท้าย
๕)ปาก ใช้พูดกับคนที่สนิทสนมเป็นกันเอง มีการละคำมากกว่า มีการกร่อนคำ ใช้คำสแลง ภาษาถิ่น คำตลาด คำหยาบ ใช้คำย่อที่เข้าใจกันภายในกลุ่ม ใช้คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ ใช้คำหรือสำนวนที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง
ข้อสังเกต ความแตกต่างระหว่างภาษาสนทนาและภาษาปาก คือ
ภาษาสนทนาใช้กับคนที่ไม่สนิท ส่วนภาษาปากใช้กับคนที่สนิท
จากโจทย์ ตัวเลือกข้อ ๔ เป็นภาษาทางการ ส่วนตัวเลือกอื่น เป็นภาษาปาก



๓๒. ตอบ ๒. วันนี้ก็หวังว่าคุณผู้ฟังน่าจะได้ความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยและความสนุกสนานจากการแสดงของพวกเราค่ะ
เป็นภาษากึ่งทางการ สังเกต มีคำลงท้ายว่า “ค่ะ” ส่วนตัวเลือกอื่น เป็นภาษาทางการ 



๓๓. ตอบ ๓. เพื่อน ๆ นัดเจอกันที่สวนสาธารณะ
สำนวนภาษาต่างประเทศ จะยาวเยิ่นเย่อ ใช้คำฟุ่มเฟือย มักแปลจากภาษาต่างประเทศโดยตรง
จากโจทย์ ข้อ ๑. เป็นการเลียนแบบโครงสร้างประโยคภาษาอังกฤษ Passive voice หรือประโยค “ถูกกระทำ”
ควรแก้เป็น เขาได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานอีกสมัยหนึ่ง
ข้อ ๒. ควรแก้เป็น เรื่องนี้เข้าใจยาก
ข้อ ๔. ควรแก้เป็น เธอคิดว่าใครเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้า



๓๔. ตอบ ๓. ข้อ(ค)
ตัด “ทรง” ออก ใช้แค่ “เสด็จพระราชดำเนิน”
เทคนิค คำกริยาที่เป็นคำราชาศัพท์อยู่แล้ว ไม่ต้องใช้ “ทรง” นำหน้า เช่น เสด็จ ทอดพระเนตร
ส่วน คำกริยาธรรมดาใช้ “ทรง” นำหน้าได้ เช่น ทรงรับ ทรงฟัง



๓๕. ตอบ ๓. ทรงมีพระบรมราชโองการ ทรงเป็นพระราชโอรส
คำว่า “ทรง” มีหลักการใช้ ดังนี้
๑)ถ้าคำว่า “มี” หรือ “เป็น” อยู่หน้า “พระ” ที่แสดงความเป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว ให้ตัด “ทรง” ออก
จากตัวเลือกข้อ ๓. แก้เป็น มีพระบรมราชโองการ เป็นพระราชโอรส
๒)ถ้าคำว่า “มี” หรือ “เป็น” นำหน้าคำธรรมดา ใช้ “ทรง” นำหน้าได้ เช่น
ตัวเลือกข้อ ๔. ทรงมีทุกข์ ทรงมีเงิน √
๓)“ทรง”นำหน้านามธรรมดาได้ เช่น ตัวเลือกข้อ ๑. ทรงศีล ทรงเทนนิส
๔)“ทรง” นำหน้านามราชาศัพท์ได้ เช่น ตัวเลือกข้อ ๒. ทรงพระกรุณา ทรงพระผนวช
๕)“ทรง” นำหน้ากริยาธรรมดาได้ เช่น ทรงรับ ทรงฟัง
๖)คำกริยาที่เป็นคำราชาศัพท์อยู่แล้ว ไม่ต้องใช้ “ทรง” นำหน้า เช่น เสด็จ ทอดพระเนตร


กลับไปดู แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๓๑-๓๕)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น