วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559

เฉลยแนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๖-๑๐)

๖. ตอบ ๔. รุกราน รุ่มร่าม เรี่ยราย
คำซ้อน คือ การนำคำมูล ๒ คำหรือมากกว่านั้น ที่มีความหมายหรือเสียงใกล้เคียงกันหรือเหมือนกันมาซ้อนกัน
คำซ้อน มี ๔ ลักษณะ ดังนี้
๑)คำซ้อนมีความหมายเหมือนกัน เช่น เงียบสงบ
คำซ้อนมีความหมายคล้ายกัน เช่น เจ็บไข้
คำซ้อนมีความหมายตรงข้าม เช่น พ่อแม่ ดีชั่ว
๒)คำซ้อนมีเสียงใกล้เคียงกันมาเข้าคู่กัน เช่น ชิงชัง ขมุกขมัว
๓)คำซ้อนที่มี ๒ คำ จะมีน้ำหนักเท่ากันทั้ง ๒ คำ ไม่มีใครเด่นกว่ากัน
๔)คำซ้อนเกิดความหมายใหม่หรือมีความหมายใกล้เคียงกับความหมายเดิมก็ได้
คำประสม คือ การนำคำมูล ๒ คำหรือมากกว่านั้น ที่มีความหมายไม่เหมือนกันมาประสมกัน
คำประสม มี  ๓ ลักษณะ ดังนี้
๑)คำประสมความหมายไม่เหมือนกัน ไม่คล้ายกัน และไม่ตรงข้ามกัน เช่น รถไฟ
๒)คำประสมน้ำหนักอยู่ตัวหน้า เช่น ใจดี
๓)คำประสมเกิดความหมายใหม่เสมอ เช่น ทะเลทราย
เทคนิค การแยกความแตกต่างระหว่างคำประสมกับประโยคหรือกลุ่มคำหรือวลี มีดังนี้
๑)คำประสมเกิดความหมายใหม่เสมอ มีความหมายเดียวและเป็นคำเดียว เช่น ทุเรียนกวน
ส่วนประโยคหรือกลุ่มคำหรือวลี แต่ละคำมีความหมายคงที่ เช่น ทุเรียนเน่า
๒)คำประสมจะอยู่ติดกัน ไม่สามารถนำคำอื่นมาแทรกกลางได้
ส่วนประโยคหรือกลุ่มคำหรือวลี นำคำอื่นมาแทรกกลางได้ เช่น ทุเรียนนั้นเน่า
๓)คำประสมทำเองไม่ได้ ต้องถูกกระทำ เช่น ทุเรียนกวน
ส่วนประโยคหรือกลุ่มคำหรือวลี ทำกริยาด้วยตนเองได้ เช่น ทุเรียนเน่า
สังเกต ประโยคหรือกลุ่มคำหรือวลี มักมีโครงสร้าง คำนาม + คำกริยา/คำคุณศัพท์
แต่ไม่เสมอไปนะจ๊ะ เช่น ไฟ + ฉาย = ไฟฉาย เป็นคำประสมจ้า
จากโจทย์ ข้อ ก. เดินช้า  ข้อ ข. จานบิน  ข้อ ค. อ่อนใจ   
ล้วนเป็นคำประสม

๗. ตอบ ๒. นักการเมือง นักบิน นักเรียน
จำให้ขึ้นใจ คำประสมเกิดความหมายใหม่เสมอ
จากโจทย์ ข้อ ก. หัวหู เป็นคำซ้อน เพราะนำคำที่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงมาซ้อนกัน
ข้อ ค. แม่นอน เป็นประโยค เพราะมีคำกริยา นอนและแต่ละคำมีความหมายคงที่ ไม่เกิดความหมายใหม่
ข้อ ง. ทุกคำล้วนเป็นคำมูลหลายพยางค์
คำมูล คือ คำที่มาจากภาษาดั้งเดิม มีความหมายชัดเจนในตัวเอง แบ่งแยกพยางค์ออกจากกันไม่ได้ อาจเป็นคำไทยแท้หรือคำที่มาจากภาษาอื่นก็ได้ โดยแต่ละพยางค์อาจมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้
คำมูลแบ่ง 2 ประเภท คือ คำมูลพยางค์เดียวและคำมูลหลายพยางค์
เทคนิค การสังเกตคำมูล ลองนำคำนั้นมาแยกแต่ละพยางค์ออกจากกัน จะพบว่า แต่ละพยางค์จะไม่มีความหมาย ต้องอยู่รวมกันคำนั้นถึงจะมีความหมาย เช่น พิถีพิถัน

๘. ตอบ ๔. สารพัด รอมร่อ ซอมซ่อ
จากโจทย์ ข้อ ก. วิตถาร อ่านว่า วิด ถาน               
ข้อ ค. เจรจา อ่านว่า เจน ระ จา หรือ เจน จา
ข้อ ง. รอมร่อ อ่านว่า รอม มะ ร่อ ส่วน ซอมซ่อ อ่านว่า ซอม มะ ซ่อ (อ่านกันให้ถูกต้องนะจ๊ะ)

๙. ตอบ ๓. โกสินทร์ นเรนทร์
เทคนิค คำสมาสคำสนธิ ให้ท่องว่า สมาสชน สนธิเชื่อมหรือ สมาสชน มักอ่านอะ สนธิเชื่อม มักแทรก อ อ่าง
คำสมาส คือ การนำคำบาลีสันสกฤตตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป มาชนหรือต่อกัน เป็นการสร้างคำใหม่ มีความหมายใหม่ มักเรียกว่า คำสมาสแบบสมาส มีลักษณะ ดังนี้
๑)นิยมอ่าน เสียงอะ ที่พยางค์ท้ายของคำแรก เช่น ราชการ อ่านว่า ราด ชะ กาน
๒)ถ้าพยางค์ท้ายของคำแรก เป็นเสียงสระ อิ อุ หรือสระอื่น ๆ ให้อ่านตามเสียงสระนั้น เช่น
อุบัติเหตุ อ่านว่า อุ บัด ติ เหด           
ธาตุเจดีย์ อ่านว่า ทาด ตุ เจ ดี
๓)ยกเว้นบางคำไม่ออกเสียงอะที่พยางค์ท้ายของคำแรก เช่น
ชลบุรี อ่านว่า ชน บุ รี สุพรรณบุรี อ่านว่า สุ พัน บุ รี
คำสนธิ คือ การนำคำบาลีสันสกฤตตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป มาเชื่อมเสียงท้ายของคำหน้ากับเสียงต้นของคำที่ตามมา ให้กลมกลืนกัน  หรือคำสนธิ ก็คือ คำสมาสที่กลมกลืนเสียง มักเรียกว่า คำสมาสแบบสนธิ มีลักษณะ ดังนี้
๑)สระสนธิ คือ เชื่อมเสียงสระ โดยเสียงท้ายของคำหน้าเป็นสระ เสียงต้นของคำที่ตามมาก็เป็นสระ เช่น
ภักษะ + อาหาร = ภักษาหาร (อาหารที่กินประจำ)
๒)พยัญชนะสนธิ คือ เชื่อมเสียงพยัญชนะ โดยเสียงท้ายของคำหน้าเป็นพยัญชนะ เสียงต้นของคำที่ตามมาก็เป็นพยัญชนะหรือสระก็ได้ เช่น ราชัน + โอรส = ราโชรส (โอรสของพระราชา)
๓)นิคหิตสนธิ คือ เชื่อมเสียงนิคหิต โดยเสียงท้ายของคำหน้าเป็นนิคหิต เสียงต้นของคำที่ตามมาก็เป็นพยัญชนะหรือสระก็ได้ เช่น สํ + ผัสสะ = สัมผัส (การจับต้อง)
จากโจทย์ นึกถึงเทคนิค คำสมาสคำสนธิ ให้ท่องว่า สมาสชน สนธิเชื่อมหรือ สมาสชน มักอ่านอะ สนธิเชื่อม มักแทรก อ อ่างจะเห็นว่า ธรณินทร์ เป็นคำสนธิ เกิดจาก ธรณี + อินทร์ = ธรณินทร์ (ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน)
ข้อ ค. โกสินทร์ เป็นคำสนธิ เกิดจาก โกสี + อินทร์    นเรนทร์ ก็เป็นคำสนธิ เกิดจาก นร + อินทร์ = นรินทร์ หรือ นเรนทร์ ก็ได้
ส่วนข้อ ก. สุพรรณบุรี เป็นคำสมาสแบบชน                         ฤทธานุภาพ เป็นคำสนธิ เกิดจาก ฤทธิ + อานุภาพ 
ข้อ ข. ธานินทร์ เป็นคำสนธิ เกิดจาก ธานี + อินทร์ 
ส่วนผลไม้ เป็นคำประสม ถึงแม้คำว่า ผลจะมาจากภาษาบาลีสันสกฤต แต่คำว่า ไม้เป็นคำไทยแท้
ข้อ ง. ไพรินทร์ เป็นคำสนธิ เกิดจาก ไพรี + อินทร์   พระเขนย ไมใช่คำสนธิ เพราะเขนยเป็นคำภาษาเขมร

๑๐. ตอบ ๑. เก้งก้าง ไฟฟ้า อัคคีภัย
เก้งก้าง เป็นคำซ้อน เพราะคำซ้อน คือ การนำคำมูล ๒ คำหรือมากกว่านั้น ที่มีความหมายหรือเสียงใกล้เคียงกันหรือเหมือนกันมาซ้อนกัน
ไฟฟ้า เป็นคำประสม เพราะคำประสม คือ การนำคำมูล ๒ คำหรือมากกว่านั้น ที่มีความหมายไม่เหมือนกันมาประสมกัน
จำให้แม่น คำประสมเกิดความหมายใหม่เสมอ
อัคคีภัย เป็นคำสมาส เพราะคำสมาส หมายถึง การนำคำบาลีสันสกฤตตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป มาชนหรือต่อกัน เป็นการสร้างคำใหม่ มีความหมายใหม่ มักเรียกว่า คำสมาสแบบสมาส ซึ่งคำว่า อัคคี และ ภัย เป็นคำบาลีทั้งคู่
ส่วนข้อ ๒. กิตติคุณ บุญฤทธิ์ วีรบุรุษ  เป็นคำสมาส
ข้อ ๓. ดูแล เผ็ดร้อน แยกย้าย เป็นคำซ้อน                         
ข้อ ๔. ตามแต่ นอกจาก ยกเว้น เป็นคำประสม (ข้อนี้ตอบถูกกันไหมเอ่ย)

กลับไปดู แนวข้อสอบภาษาไทยO-Net ชุดที่๑ (ข้อ๖-๑๐)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น